เมื่อเข้าสู่วัยทำงาน สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยก็คือพฤติกรรมที่มักจะทำจนติดเป็นนิสัย ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นพฤติกรรมที่ไม่ดี เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการนั่งทำงานนานๆ ในท่าเดิม ๆ ขยับตัวน้อย นอนน้อย กินอาหารทำลายสุขภาพ ติดหวาน ติดน้ำอัดลม ติดกาเฟอีน เพราะช่วนให้สามารถนั่งทำงานได้นาน ๆ เรียกได้ว่าเป็นปัจจัยที่สามารถก่อให้เกิดโรคได้มากมาย
7 โรคเสี่ยง ของหนุ่มสาวในปัจจุบัน
1. ออฟฟิศซินโดรม
โรคออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) อาการที่เกิดจากพฤติกรรมการนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์นาน ๆ โดยเฉพาะคนที่ต้องนั่งท่าเดิมไม่ค่อยมีการขยับตัวเท่าไหร่ หรือมีท่าทางการนั่งที่ไม่เหมาะสม ทำให้ร่างกายเกิดความผิดปกติ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักจะเกิดในกลุ่มพนักงานออฟฟิศ
อาการของโรคออฟฟิศซินโดรมนั้น มักจะเกิดขึ้นตามกระดูกและกล้ามเนื้อ ปวดเฉพาะส่วนบริเวณคอ บ่า ไหล่ เนื่องจากนั่งท่าเดิมเป็นเวลานาน มีอาการหลังค่อ ไหล่งุ้ม เพราะท่านั่งไม่ถูกต้อง เมื่อต้องจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานก็อาจจะทำให้เกิดอาการตาล้า ตาพร่า มีอาการปวดหัวเรื้อรัง จนถึงขั้นเป็นไมเกรนได้ ถ้ายังไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ก็อาจจะมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อ เอ็นรัดข้อมืออักเสบกดทับเส้นประสาท ปลอกหุ้มเอ็นกล้ามเนื้อบริเวณนิ้วโป้งอักเสบ มีอาการนิ้วล็อก นิ้วชา มือชา
2. โรคจอประสาทตาเสื่อม
โรคจอประสาทตาเสื่อม เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกของจอประสาทตา บริเวณจุดกลางรับภาพ ซึ่งส่งผลให้ค่อย ๆ สูญเสียการมองเห็นลงเรื่อย ๆ มักจะพบได้ในผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ส่งผลให้ผู้ป่วยเริ่มมีอาการมองเห็นได้ไม่ชัดในส่วนกลางของภาพ เพราะจุดกลางรับภาพค่อย ๆ เสื่อมสภาพลง แต่ในบริเวณด้านข้างยังเห็นได้ชัดอยู่ เวลามองภาพจะรู้สึกว่าบิดเบี้ยว สีผิดเพี้ยน มองในที่สว่างได้ไม่ชัด และอาจจะมีอาการแพ้แสงร่วมด้วย
ในคนที่มีปัญหาสาตาสั้นมาก ๆ มีโอกาสเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมได้สูงกว่าคนสายตาปกติ ผู้ป่วยที่มีอาการความดันสูง ต้องทานยาลดระดับความดันเลือด มี Cholesterol ในเลือดสูง ก็มีโอกาสที่จะสูญเสียการมองเห็นจากโรคจอประสาทตาเสื่อมเช่นกัน
3. ไหล่ติด
อาการไหล่ติด ขยับไม่ได้ เป็นปัญหาที่เกิดจากข้อไหล่ได้รับการบาดเจ็บ หรือมีการใช้งานที่ไม่ถูกวิธี ส่งผลให้การชีวิตประจำวันมีปัญหา เพราะไม่สามารถใช้แขนได้อย่างเต็มที่ มักจะเกิดขึ้นได้ง่ายในกลุ่มผู้สูงอายุ เพราะกระดูกและข้อต่อจะค่อย ๆ เสื่อมสภาพลง ไม่แข็งแรงเหมือนเดิม แต่ถ้ามีการใช้แขนอย่างหนักหน่วง และใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน ต่อให้เป็นคนอายุน้อยก็สามารถมีอาการไหล่ติดได้เช่นกัน ควรรีบรักษาและดูแลร่างกายให้ดี ก่อนที่อาการจะรุนแรงและรักษาได้ยาก
4. กรดไหลย้อน (เกิร์ด)
โรคกรดไหลย้อน (GERD) เป็นโรคหนึ่งที่มักจะเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันโดยเป็นกิจกรรมทั่วไปที่ทุกคนจำเป็นต้องทำ อย่างเช่นการกินและการนอน แต่เมื่อไม่มีการควบคุมตัวเองหรือปฏิบัติตัวอย่างถูกวิธี ก็ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคกรดไหลย้อนขึ้นมาได้ สาเหตุของโรคนี้มาจากน้ำย่อยจากกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมาที่หลอดอาหาร
ซึ่งเป็นผลมาจากบริเวณหูรูดส่วนปลายของหลอดอาหารเกิดความผิดปกติ มักจะมีอาการรู้สึกกลืนอาหารลำบาก เหมือนมีก้อนบางอย่างติดอยู่ในคอ ทำให้ติดขัดและรู้สึกเจ็บเวลากลืน มีอาการเจ็บคอ มีเสมหะ เรอบ่อย คลื่นไส้ รู้สึกคล้ายกับมีน้ำย่อยไหลย้อนขึ้นมาในคอ ในปากมีรสขมของน้ำดี หรือมีรสเปรี้ยวจากกรดในคอ มีอาการปวดแสบปวดร้อนตรงหน้าอกและลิ้นปี่
5. โรคอ้วน/น้ำหนักตัวเกิน
เป็นอีกหนึ่งโรคที่มักจะพบได้ในวัยทำงานที่มักจะกินอาหารที่ไม่มีประโยชน์ อาหารฟาสต์ฟู้ด ของหวาน ชา กาแฟ เป็นประจำ และไม่มีการออกกำลังกายที่เหมาะสม ทำให้ร่างกายเกิดไขมันสะสมขึ้น เมื่อวัดค่าดัชนีมวลกาย ก็จะทำให้เห็นว่าเข้าสู่ภาวะโรคอ้วนแล้วหรือไม่ โดยคนปกติจะมีค่าดัชนีมวลกาย อยู่ที่ 18.5-22.9
ซึ่งถ้าไม่มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหารและการใช้ชีวิตใหม่ โรคอ้วนนี้ก็สามารถเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคอื่น ๆ ตามมาได้อีกมากมาย ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายมาก ๆ โรคอ้วนนั้นจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท การอ้วนลงพุง และการอ้วนทั้งตัว ซึ่งเป็นผลมาจากการมีไขมันในร่างกายมากเกินไปนั่นเอง
6. แผลร้อนใน
แผลร้อนใน (Aphthous Ulcers) เป็นแผลที่เกิดขึ้นในปาก สาเหตุของการเกิดแผลร้อนในนั้นมาจากการที่เยื่อบุอ่อนในช่องปากของเราเกิดการอักเสบ สามารถเกิดได้ทั่วช่องปาก โดยปัจจัยที่ทำให้เป็นแผลร้อนในในช่องปากนั้น มักจะเกิดจากปัญหาสุขภาพ คล้ายกับเป็นสัญญาณเตือนจากร่างกายว่าเริ่มมีปัญหา เช่น เมื่อร่ายกายเกิดมีความเครียดสะสม ฮอร์โมนในร่างกายมีการเปลี่ยนแปลง ดื่มน้ำน้อยเกินไป มีอาการขาดวิตามิน ก็จะแสดงออกมาในรูปแบบของการเกิดแผลร้อนในนั่นเอง
โดยจะมีตำแหน่งที่มักจจะเจอได้บ่อย ๆ คือ แผลร้อนในริมฝีปาก ที่กระพุ้งแก้ม แผลร้อนในบริเวณคอคอ แผลร้อนในใต้ลิ้น และแผลร้อนในที่เหงือก ถ้าอาการไม่รุนแรงมาก แผลจะสามารถหายเองได้ภายใน 3 – 14 วัน แต่ถ้าอาการรุนแรง หรือรู้สึกเจ็บมากเป็นพิเศษ สามารถใช้ยาทาที่ยาใช้ภายในช่องปากโดยเฉพาะเพื่อบรรเทาอาการเจ็บได้
7. ริดสีดวงทวาร
โรคริดสีดวงทวาร เป็นโรคที่เกิดจากเส้นเลือดดำที่ทวารหนักและบริเวณส่วนปลายของลำไส้ใหญ่เกิดอาการบวมและพองขึ้น จนกลายเป็นติ่งที่ยื่นนูนออกมาจากรูทวารหนัก แบ่งออกเป็น 2 ชนิดคือ โรคริดสีดวงทวารภายในและโรคริดสีดวงทวารภายนอก แบ่งอาการเจ็บป่วยได้เป็น 4 ระยะ คือ เริ่มจากมีอาการถ่ายอุจจาระออกมาเป็นเลือด จากนั้นจะเริ่มมีขนาดใหญ่ขึ้น เมื่อมีการเบ่งอุจจาระ จะมีติ่งเนื้อยื่นออกมา และสามารถหดกลับเข้าไปได้เอง ในระยะที่ 3 ในระยะนี้ติ่งที่ยื่นออกมาจะไม่สามารถหดกลับไปเองได้ และจะยื่นออกมามากกว่าเดิมในขณะไอหรือจาม ผู้ป่วยต้องดันเข้าไปด้วยตัวเอง และระยะสุดท้ายติ่งเนื้อริดสีดวงนั้นจะยื่นออกมาถาวร ไม่สามารถดันกลับเข้าไปได้แล้ว จะมีอาการบวมแดง อักเสบ มีเลือดออกรุนแรง ต้องรีบไปหาหมอเพื่อทำการรักษาให้เร็วที่สุด