ไมเกรน (Migraine) เป็นโรคปวดศีรษะเรื้อรังที่พบได้บ่อยในประชากรทั่วโลก โดยเฉพาะในผู้หญิง อาการปวดไมเกรนไม่เพียงแต่สร้างความทรมานทางกาย แต่ยังส่งผลต่อคุณภาพชีวิต การงาน และความสัมพันธ์ส่วนตัวของผู้ป่วย การเข้าใจสาเหตุและวิธีบรรเทาอาการจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ป่วยจัดการกับโรคนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สาเหตุของไมเกรน
กลไกหลักที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะไมเกรนคือการเปลี่ยนแปลงของระบบประสาทและหลอดเลือดในสมอง แม้ว่าปัจจุบันจะยังไม่สามารถระบุสาเหตุของการเกิดอการดังกล่าวได้อย่างแน่ชัด แต่ก็มีหลายปัจจัยที่อาจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดไมเกรนดังต่อไปนี้
1. ปัจจัยทางพันธุกรรม ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นไมเกรนมีแนวโน้มที่จะเป็นไมเกรนมากกว่าคนทั่วไป
2. การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน โดยเฉพาะในผู้หญิง เช่น ช่วงมีประจำเดือน การตั้งครรภ์ หรือวัยหมดประจำเดือน
3. การเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในสมอง ระดับของสารเคมีบางชนิดในสมอง เช่น เซโรโทนิน อาจมีบทบาทในการเกิดไมเกรน
4. สิ่งกระตุ้นจากสภาพแวดล้อม เช่น แสงจ้า เสียงดัง กลิ่นฉุน อากาศเปลี่ยนแปลง ร้อนจัดหรือเย็นจัดอย่างรวดเร็ว
5. พฤติกรรมการใช้ชีวิต การนอนไม่พอ ความเครียด การอดอาหาร
6. การรับประทานอาหารบางชนิด เช่น ช็อกโกแลต เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน แอลกอฮอล์ ชีส ไวน์แดง ฯลฯ
7. ปัจจัยอื่นๆ เช่น การใช้ยาบางชนิด การขาดน้ำ หรือการออกกำลังกายหนักเกินไป

อาการของไมเกรน
อาการปวดศีรษะจากไมเกรนนั้นมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างจากอาการปวดศีรษะทั่วไป โดยนอกจากอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรงแล้ว ยังมักมีอาการอื่นร่วมด้วย
ลักษณะการปวดไมเกรน
1. มักมีอาการปวดตุบ ๆ เป็นจังหวะ คล้ายกับการเต้นของชีพจร
2. ส่วนใหญ่มักปวดศีรษะข้างเดียว แต่ในบางครั้งอาจปวดทั้งสองข้าง หรือสลับข้างได้
3. อาการปวดอาจร้าวไปยังบริเวณขมับ กระบอกตา หรือท้ายทอย
อาการร่วม
1. มักมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือทั้งสองอย่างร่วมด้วย
2. ไวต่อแสง เสียง และกลิ่น ซึ่งหมายความว่าแสงจ้า เสียงดัง หรือกลิ่นฉุน สามารถทำให้อาการปวดแย่ลงได้
3. ในบางรายอาจมีอาการนำ (Aura) ก่อนที่จะเริ่มปวดศีรษะ เช่น การมองเห็นแสงวาบ จุดดำ หรือการมองเห็นผิดปกติ ชาครึ่งซีก พูดไม่ชัด
อาการเหล่านี้สามารถคงอยู่ได้หลายชั่วโมงถึงหลายวัน ส่งผลให้ผู้ป่วยไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ

วิธีบรรเทาอาการไมเกรน
การจัดการไมเกรนสามารถทำได้ทั้งการป้องกันและการรักษาอาการเมื่อเกิดขึ้น ดังนี้
1. การป้องกัน
1.1 หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น จดบันทึกอาการและสิ่งกระตุ้น เช่น สภาพร่างกาย สภาพแวดล้อม หรืออาหารที่รับประทานก่อนเกิดไมเกรน เพื่อหาปัจจัยเสี่ยงและหลีกเลี่ยง
1.2 ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต พยายามนอนหลับให้เพียงพอ รับประทานอาหารตรงเวลา และดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสม
1.3 ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อลดความเครียดและปรับสมดุลร่างกาย แต่ไม่ควรหักโหม เพราะอาจทำให้ร่างกายเกิดความเครียด และกระตุ้นให้เกิดไมเกรนได้
1.4 ฝึกผ่อนคลาย เช่น การทำโยคะ นั่งสมาธิ หรือหายใจลึก ๆ
2. การรักษาเมื่อมีอาการ
2.1 ใช้ยาแก้ปวด ยาแก้ปวดทั่วไป เช่น พาราเซตามอล หรือไอบูโพรเฟน สามารถช่วยบรรเทาอาการปวดได้ในกรณีที่ไม่รุนแรง
2.2 ใช้ยารักษาเฉพาะสำหรับไมเกรน เช่น ยากลุ่มทริปแทน (Triptans) ที่ช่วยลดอาการปวดและคลื่นไส้
2.3 พักผ่อนในที่เงียบและมืด ช่วยลดอาการแพ้แสงและเสียง
2.4 ประคบเย็นหรือร้อน ใช้ผ้าเย็นหรือร้อนประคบบริเวณศีรษะหรือคอเพื่อบรรเทาอาการ

เมื่อไรควรไปพบแพทย์
หากอาการไมเกรนรุนแรงหรือบ่อยครั้ง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและวางแผนการรักษาที่เหมาะสม แพทย์อาจแนะนำการใช้ยาป้องกันหรือการรักษาเฉพาะทางอื่น ๆ
1. อาการปวดศีรษะรุนแรงขึ้น หรือมีความถี่มากขึ้น
2. มีอาการผิดปกติทางระบบประสาท เช่น ชา อ่อนแรง หรือพูดลำบาก
3. มีอาการปวดศีรษะร่วมกับเป็นไข้ คอแข็ง หรือการมองเห็นผิดปกติ
4. เมื่อการใช้ยาด้วยตนเองไม่ได้ผล
สรุป
ไมเกรนเป็นโรคที่สามารถจัดการได้หากเข้าใจสาเหตุและวิธีบรรเทาอาการอย่างถูกต้อง การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น และการรักษาอย่างเหมาะสมจะช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หากคุณหรือคนใกล้ชิดมีอาการไมเกรนบ่อยครั้ง อย่าลืมที่จะปรึกษาแพทย์เพื่อรับการดูแลอย่างถูกวิธี เพราะสุขภาพที่ดีเริ่มต้นจากการใส่ใจและเข้าใจร่างกายของเราเอง