โรคติดต่อ เป็นโรคที่มักจะกิดขึ้นได้ง่าย และมีการแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะมีทั้งโรคที่อาการไม่หนักมาก ไปจนถึงโรคที่มีอาการรุนแรงจนทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ ดังนั้น สิ่งที่จำเป็นและสำคัญมาก ๆ ก็คือต้องรู้ว่ามีโรคติดต่อที่ร้ายแรงอะไรบ้าง และต้องรู้วิธีป้องกันและการรักษาเบื้องต้นให้ดี เพื่อที่จะได้ลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคติดต่อได้
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับโรคติดต่อ
โรคติดต่อ คืออะไร?
โรคติดต่อ ก็คือโรคที่สามารถถ่ายทอดหรือแพร่เชื้อต่อกันได้ระหว่างคนสู่คน ซึ่งจะมีเชื้อโรคต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นไวรัสหรือแบคทีเรียเป็นสาเหตุของโรค ทำให้ในแต่ละโรคจะมีอาการแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่เชื้อโรคที่ได้รับมา สำหรับประเทศไทยนั้นที่มีสภาพอากาศแบบร้อนชื้น ทำให้เชื้อโรคสามารถเจริญเติบโตได้เป็นอย่างดี ทำให้ต้องคอยระวังเกี่ยวกับโรคระบาดหรือโรคติดต่อมากเป็นพิเศษ โดยจะเรียกโรคที่เกิดในบริเวณนี้ว่า โรคเขตร้อน นั่นเอง
7 โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง
1. วัณโรค (Tuberculosis)
เป็นโรคติดต่อชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นในระบบทางเดินหายใจ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Mycobacterium tuberculosis โดยเชื้อวัณโรคนั้นจะสามารถแพร่เชื้อได้ผ่านละอองเสมหะขนาดเล็กที่ผู้ป่วยนั้นไอหรือจามออกมา สามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ วัณโรคที่หลายคุ้นเคยก็คือ วัณโรคปอด ซึ่งจะแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทคือ วัณโรคแฝง และ วัณโรคระยะแสดงอาการหรือระยะกำเริบ นอกจากนี้ยังมีวัณโรคกระดูก ที่ถ้าปล่อยไว้นาน ตัวเชื้อแบคทีเรียก็จะเข้าไปทำลายกระดูก เสี่ยงที่จะเกิดอาการกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทได้ และ วัณโรคต่อมน้ำเหลือง ที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียและทำให้ต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอบวมโต วัณโรคจะมีระยะแพร่เชื้ออยู่ในช่วง 2 เดือนแรกหลังจากที่ติดเชื้อมา ดังนั้น เมื่อมีการวินิจฉัยแล้วว่าป่วยเป็นวัณโรคจริง ผู้ป่วยต้องทำการรักษาแบบแยกตัวออกจากผู้อื่น เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่กระจายออกไปได้
2. โรคมือเท้าปาก (Hand Foot and Mouth Disease)
เป็นโรคยอดฮิตที่มักจะพบในเด็กเล็กอยู่เป็นประจำ เพราะภูมิคุ้มกันยังไม่แข็งแรง โดยเฉพาะในช่วงหน้าฝนที่มีฝนตกหนัก อากาศชื้น ก็ยิ่งทำให้เกิดการระบาดได้ง่ายขึ้น เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเทอโร Enterovirus 71 (EV71) Coxasackie Virus ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะติดโรคนี้ได้จากการที่ได้รับเชื้อจากผู้ป่วยคนอื่นผ่านทางการไอ จาม การสัมผัสสารคัดหลั่ง ทำให้มีไข้ขึ้นสูงประมาณ 38-39 องศาเซลเซียส เริ่มมีแผลในปาก มีตุ่มน้ำใสและจุดแดง ๆ ขึ้นบริเวณฝ่ามือ เท้า และต่างส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ดังนั้น สถานที่อย่างโรงเรียน หรือสถานเลี้ยงเด็กจึงกลายเป็นจุดที่มีความเสี่ยงมากในช่วงที่มีการระบาด เพราะมีเด็ก ๆ มาอยู่ร่วมกันเยอะ พ่อแม่ ผู้ปกครอง และครูผู้ดูแลจำเป็นต้องคอยสังเกตอาการให้ดี ถ้ามีใครที่ดูมีความเสี่ยงที่จะติดโรค ต้องจับแยกออกจากเด็กคนอื่น ๆ ทันที เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ
3. โปลิโอ หรือ โรคไข้ไขสันหลังอักเสบ
เกิดจากเชื้อไวรัส โปลิโอ (Poliovirus) ที่อยู่ในกลุ่ม Enterovirus ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคมือเท้าปากและเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ซึ่งผู้ป่วยจะได้รับเชื้อจากการใช้ชีวิตร่วมกับผู้ที่เป็นโรคโปลิโอ หรือเป็นพาหะของโรค ส่วนใหญจะเป็นการกินอาหารหรือดื่มน้ำจากแก้วเดียวกัน ก็จะได้รับเชื้อโปลิโอเข้าไปโดยตรง เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายก็จะทำการแตกตัวเพื่อกระจายไปตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายมากขึ้น และจะเป็นอันตรายอย่างยิ่ง ถ้าเชื้อเข้าสู่กระแสเลือดและระบบประสาท เพราะเชื้อไวรัสตัวนี้จะเข้าไปทำลายระบบประสาทส่วนกลางและการควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการกล้ามเนื้อฝ่อ กล้ามเนื้ออ่อนแรงและทำกลายเป็นอัมพาตได้ สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนสำหรับป้องกันโปลิโอและต้องหยอดวัคซีนกระตุ้นซ้ำให้ครบตามคำแนะนำของแพทย์ ซึ่งเริ่มฉีดได้ตั้งแต่อายุ 2 เดือน เป็นการช่วยเสริมภูมิคุ้มกันและลดความเสี่ยงที่จะเกิดความพิการได้อีกด้วย
4. เริม หรือ Herpes simplex (HSV)
เป็นโรคติดต่อทางผิวหนัง ที่สามารถติดต่อได้จากการสัมผัสเชื้อทั่วไป และติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์ โดยเริมนั้นเกิดจากการติดเชื้อไวรัส Herpes simplex หรือ HSV ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ HSV -1 ที่เป็นเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคเริมที่ปาก และ HSV-2 ที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคเริมที่อวัยวะเพศ สำหรับอาการของโรคเริมนั้นมักจะแสดงออกที่บริเวณปาก ลิ้น ใบหน้า อวัยวะเพศ รอบทวารหนัก และขาหนีบ มีลักษณะเป็นตุ่มน้ำใสและแผลพุพอง ผู้ป่วยจะรู้สึกแสบและคันในบริเวณนั้น ๆ มีอาการไข้ ปวดตามตัว รู้สึกระคายเคืองในบริเวณที่เกิดแผล ขณะปัสสาวะจะรู้สึกแสบขัด อาการในผู้หญิงอาจจะมีตกขาวที่ผิดปกติร่วมด้วย และอวัยวะเพศมีอาการบวมแดง การรักษาจะใช้เวลาประมาณ 7-10 วัน โดยใช้ยาต้านไวรัสเพื่อยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัส HSV และมีการใช้ร่วมกับยาที่ช่วยระงับอาการเจ็บปวดด้วย
5. แผลริมอ่อน (Chancroid)
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่มีผู้ป่วยเยอะไม่แพ้กับโรคอื่นๆ เกิดจากการได้รับเชื้อแบคทีเรีย Haemophilus Ducreyi ขณะที่กำลังมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันและไม่ใช้ถุงยางอนามัย ส่งผลให้เกิดแผลเปื่อยยุ่ยเล็กน้อย มีขอบแผลที่ค่อนข้างนูน และมีหนองร่วมด้วย จึงสร้างความเจ็บปวดให้แก่ตัวผู้ป่วยค่อนข้างมาก นอกจากนี้ ถ้ามีอาการและยังไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาการของโรคแผลริมอ่อนก็สามารถรุนแรงขึ้นได้ และอาจจะเกิดอาการต่อมน้ำเหลืองโตตรงบริเวณขาหนีบด้วย เมื่ออยู่ในช่วงนี้ก็ต้องรีบรักษาให้เร็วที่สุด เพื่อที่จะได้ป้องกันไม่ให้เกิดฝีขึ้นในภายหลัง และถ้าปล่อยไว้นานก็อาจจะทำให้เกิดรอยทะลุของท่อปัสสาวะ (Urethral Fistula) ได้ ดังนั้นจึงควรไปตรวจที่โรงพยาบาลทันทีที่รู้หรือสงสัยอาการป่วยของตัวเอง เมื่อทำการรักษาจนหายดีแล้ว หลังจากนั้น เวลามีเพศสัมพันธ์กับคู่นอน ไม่ว่าจะมีคนเดียวหรือคนที่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย ก็จำเป็นต้องใชถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์ทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัยของตัวเองและคนอื่น
6. ซิฟิลิส (Syphilis)
เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันที่เกิดจากแบคทีเรียทรีโพนีมา พาลลิดัม (Treponema pallidum) ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะได้รับมาจากการที่มีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกัน หรือไม่ใส่ถุงยางอนามัย และจะมีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคซิฟิลิสมากขึ้นในคนที่ชอบเปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ ดังนั้น ถ้ารักสนุกและชื่นชอบการมีเพศสัมพันธ์ ก็ต้องป้องกันตัวเองให้ดี เพราะถ้าเกิดติดโรคซิฟิลิสขึ้นมา ก็อาจะเป็นอันตรายต่อร่างกายได้ โดยอาการของโรคจะเริ่มจากการมีแผลริมแข็งที่บริเวณอวัยวะเพศ จากนั้น เชื้อจะค่อย ๆ กระจายตัวเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองและกระแสเลือด จึงเกิดเป็นแผลที่มีหนองตามร่างกาย เรียกช่วงนี้ว่า ระยะออกดอก ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ ปวดเมื่อตามร่างกาย อ่อนเพลีย มีผื่นทั้งที่เป็นผื่นราบและผื่นนูนกระจายอยู่ทั่วร่างกาย ต้องรีบรักษาให้เร็วที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้อาการรุนแรงไปสู่ระยะสุดท้าย ที่เชื้อจะเข้าไปทำลายอวัยวะภายในและระบบประสาท ถ้ารักษาไม่ทันก็อาจจะทำให้เสียชีวิตได้
7. หนองในเทียม (Chlamydia)
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียคลาไมเดีย ทราโคมาทิส (Chlamydia Trachomatis) อาการของโรคนี้ในผู้ชายกับผู้หญิงจะมีอาการต่างกันเล็กน้อย โดยผู้ชายจะมีน้ำมูกใสหรือขุ่นออกมาจากปลายอวัยวะเพศ และมีอาการปวดแสบร่วมด้วยในขณะที่ปัสสาวะหรือมีเพศสัมพันธ์ ส่วนในผู้หญิง ส่วนใหญ่แล้วจะไม่ค่อยมีอาการที่เห็นได้ชัดเจน ส่วนใหญ่จะรู้ว่าเป็นโรคหนองในเทียมก็ต่อเมื่อไปตรวจอย่างจริงจัง จึงจำเป็นต้องหมั่นตรวจสุขภาพอยู่บ่อย ๆ โดยเฉพาะคนที่มีพฤติกรรมเสี่ยงที่จะเกิดโรคได้ สำหรับการรักษาโรคหนองในเทียมนั้นจะรักษาโดยการใช้ยาปฏิชีวนะ โดยจะให้ผู้ป่วยติดต่อต่อกันอย่างสม่ำเสมอ เพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคให้หมดไป เมื่อรักษาครบตามกำหนดจนหายดีแล้ว ก็ต้องกลับมาตรวจซ้ำอีกครั้ง เพื่อตรวจสอบว่าจะไม่กลับมาเป็นซ้ำอีก