หลาย ๆ คนมักมองข้ามถึงความสำคัญของการตรวจสุขภาพประจำปี เพราะคิดว่าร่างกายมีความแข็งแรงดี ไม่แสดงถึงอาการเจ็บป่วยหรือความผิดปกติใด ๆ แต่รู้หรือไม่ การตรวจสุขภาพมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะทำให้สามารถค้นหาความเสี่ยงของโรค หรือภาวะต่าง ๆ ที่ยังไม่แสดงอาการออกมา เพื่อเตรียมการรับมือในการรักษาแต่เนิ่น ๆ หากพบโรคไวช่วยลดความรุนแรงและภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ และทำให้มีโอกาสรักษาให้หายขาดได้
นอกจากนี้ยังเป็นการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการรักษาอีกด้วย ซึ่งวันนี้หมอจะมาแนะนำเกี่ยวกับการตรวจสุขภาพประจำปีกันค่ะว่าควรตรวจอะไรบ้าง และควรเตรียมตัวอย่างไรก่อนตรวจ
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการตรวจสุขภาพประจำปี
การตรวจสุขภาพประจำปี คืออะไร?
การตรวจสุขภาพประจำปี คือ การตรวจร่างกายทั่ว ๆ ไปในผู้ที่ไม่มีอาการผิดปกติ เพื่อตรวจคัดกรอง ค้นหาโรคที่อาจแฝงอยู่ในร่างกายที่อาจจะยังไม่แสดงอาการออกมา หรือตรวจเพื่อหาปัจจัยเสี่ยง หากตรวจพบในระยะเริ่มต้นจะได้รีบรักษาดูแลรวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ ดังนั้นการตรวจประจำปีจึงมีประโยชน์ทั้งกับผู้ที่เข้ารับการตรวจ เพราะช่วยให้รับมือกับโรคต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที
การตรวจสุขภาพประจำปี สำคัญอย่างไร?
- ช่วยให้ทราบสุขภาพ และความสมบูรณ์ของร่างกายตนเอง ส่งผลให้สามารถปฏิบัติตัวและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะสม
- ช่วยให้ค้นพบความผิดปกติหรือโรคต่าง ๆ ได้ตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น ซึ่งจะช่วยให้คนไข้สามารถรักษาได้อย่างทันท่วงที ป้องกันไม่ให้ความผิดปกติลุกลามมากขึ้น ลดความสูญเสีย
- ช่วยให้ติดตามและประเมินสุขภาพของผู้ป่วย เพื่อให้แพทย์ให้การรักษาได้อย่างเหมาะสม
- ลดความสูญเสียทั้งด้านสุขอนามัย และด้านการเงิน
การตรวจสุขภาพเบื้องต้นมีอะไรบ้าง?
การตรวจสุขภาพเบื้องต้นที่สามารถตรวจเบื้องต้นได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิงของกลุ่มคนวัยทำงานขึ้นไปจนถึงผู้สูงอายุ
- การตรวจร่างกายทั่วไป เป็นการตรวจร่างกายพื้นฐาน โดยแพทย์จะสอบถามประวัติการเจ็บป่วยของคนในครอบครัว รวมถึงประวัติอาการต่าง ๆ ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ประวัติการแพ้ยา และพฤติกรรมในชีวิตประจำวันที่อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ ร่วมกับการตรวจร่างกายเบื้องต้น เช่น การตรวจวัดความดันโลหิต ตรวจหาดัชนีมวลกาย และการตรวจร่างกายเบื้องต้นโดยแพทย์ เพื่อให้แพทย์สามารถแยกโรคต่าง ๆ ได้ในเบื้องต้น
- การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC) เพื่อหาความผิดปกติของส่วนประกอบของเลือด ได้แก่ เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือด การประเมินความเข้มข้นของเลือด เพื่อบอกถึงสภาวะผิดปกติ เช่น ภาวะโลหิตจาง ภาวะที่เกี่ยวกับภูมิคุ้มกันของร่างกาย จำนวนเกล็ดเลือด และความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว
- การตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด (FPG) และค่าน้ำตาลเฉลี่ยสะสม (HbA1C) เพื่อประเมินความเสี่ยงของโรคเบาหวาน
- การตรวจวัดระดับไขมันในเลือด เพื่อตรวจวัดระดับคอเลสเตอรอล และไตรกลีเซอไรด์ รวมถึงไขมันชนิดดีและไม่ดี เพื่อประเมินความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง
- การตรวจวัดระดับกรดยูริก เป็นการตรวจเพื่อประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเก๊าท์
- การตรวจวัดการทำงานของไต โดยการตรวจเลือดเพื่อดูระดับค่าครีเอตินิน ซึ่งเป็นของเสียที่เกิดขึ้นจากกล้ามเนื้อ และค่า Blood Urea Nitrogen (BUN) ซึ่งเป็นค่าของเสียที่เกิดจากการย่อยสลายโปรตีน เพื่อประเมินความสามารถในการขับของเสียของไต
- การตรวจวัดการทำงานของตับ เป็นการตรวจเพื่อหาภาวะตับอักเสบ ตับเสื่อมสภาพ ภาวะดีซ่าน โดยการตรวจหาเอ็นไซม์และสารต่าง ๆ เพื่อตรวจดูความผิดปกติของตับ และทางเดินน้ำดี
- การตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์ โดยตรวจวัดจากระดับฮอร์โมนในเลือด เพื่อตรวจสอบการทำงานของต่อมไทรอยด์ว่าทำงานได้อย่างปกติหรือไม่
- การตรวจไวรัสตับอักเสบ ไวรัสตับอักเสบบีสามารถตรวจคัดกรองจากการติดเชื้อเบื้องต้นได้จากส่วนประกอบของเชื้อ HBsAg และการตรวจวัดระดับภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ HBsAb ส่วนไวรัสตับอักเสบซี สามารถตรวจคัดกรองการติดเชื้อเบื้องต้นได้จาก Anti-HCV
- การตรวจสารบ่งชี้มะเร็ง อาทิ การตรวจสารบ่งชี้มะเร็งทางเดินอาหาร (CEA) การตรวจสารบ่งชี้มะเร็งตับ และตรวจสารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมากในเพศชายทุกช่วงวัย
- การตรวจปัสสาวะ เป็นการตรวจเพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรคในระบบทางเดินปัสสาวะเบื้องต้น รวมถึงโรคอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น โรคเบาหวาน
- การตรวจอุจจาระ เป็นการตรวจเพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารเบื้องต้น ได้แก่ ภาวะการอักเสบติดเชื้อในลำไส้ พยาธิ รวมถึงการตรวจหาภาวะเลือดปนในอุจจาระ ซึ่งอาจเกิดจากแผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้ ริดสีดวงทวาร รวมไปถึงโรคมะเร็งทางเดินอาหาร
- การตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) เป็นการตรวจเพื่อช่วยประเมินการทำงานของหัวใจในขณะพัก เพื่อดูความผิดปกติของการทำงานของหัวใจ เช่น ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ การนำไฟฟ้าที่ผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจ ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
- การเอกซเรย์ปอด เป็นการตรวจเพื่อดูความผิดปกติในทรวงอก เช่น ขนาดของหัวใจ วัณโรค และโรคต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ภายในปอด
- การตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้อง เป็นการตรวจเพื่อหาความผิดปกติของอวัยวะที่สำคัญในช่องท้อง เช่น ตับ ไต ตับอ่อน ม้าม เส้นเลือดใหญ่ที่อยู่ภายในช่องท้อง รวมถึงมดลูกและรังไข่ในผู้หญิง และต่อมลูกหมากในผู้ชาย
- การตรวจวัดความสามารถในการมองเห็นและความดันของลูกตา เป็นการตรวจสุขภาพตาทั่วไป และค้นหาความเสี่ยงของภาวะต้อ
การตรวจสุขภาพประจำปีต้องตรวจกี่ครั้ง?
โดยปกติเราทุกคนควรเข้ารับ การตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หากไม่มีอาการเจ็บป่วย แต่สำหรับผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษอาจจำเป็นต้องเข้ารับการตรวจที่บ่อยขึ้น
เพราะการดำเนินชีวิตทุกวันนี้มีกระทบต่อสุขภาพมากขึ้นทั้งปัจจัยภายนอกต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยที่บางครั้งเราอาจจะไม่รู้ตัว ทั้งมลภาวะฝุ่น PM 2.5 ควันพิษจากท่อไอเสีย สารเคมีที่ตกค้างในผักและผลไม้ โรคระบาดต่าง ๆ หรือแม้แต่โรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม รวมไปถึงพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เช่น การออกกำลังกายน้อยลง การสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ มีความเครียดสะสมมากขึ้น ปัจจัยทั้งหมดนี้ก็ส่งผลต่อสุขภาพทั้งสิ้น
สำหรับโปรแกรมการตรวจสุขภาพต้องตรวจอะไรบ้าง หรือความถี่ในการตรวจนั้นขึ้นอยู่กับอายุ สุขภาพโดยรวม ประวัติครอบครัว และรูปแบบการใช้ชีวิตของแต่ละคน โดยปกติโปรแกรมการตรวจสุขภาพเบื้องต้นจะแบ่งตามเพศและอายุ
อายุเท่าไหร่ ควรตรวจอะไรบ้าง
โดยรายการตรวจสามารถแบ่งตามช่วงอายุ ได้ ดังนี้
อายุ 18-60 ปี
- ตรวจร่ายการทั่วไป ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง BMI และวัดความดันโลหิตอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
- ตรวจสายตา อายุระหว่าง 40 – 60 ปี ควรตรวจวัดสายตา 1 ครั้ง
- การตรวจคัดกรองมะเร็งที่จำเป็น
- มะเร็งเต้านม อายุ 30 – 39 ปี: ควรตรวจทุก 3 ปี และ อายุ 40 ปีขึ้นไปควรตรวจทุกปี ควรคลำเต้านมด้วยตนเอง และตรวจ mammogram ทุก 1- 2 ปี
- มะเร็งปากมดลูก อายุ 30 – 65 ปี: ควรตรวจ pap smear ทุก 3 ปี
- มะเร็งลำไส้ใหญ่ อายุ 50 ปีขึ้นไป: ควรตรวจเม็ดเลือดแดงในอุจจาระทุกปี
- การตรวจทางห้องปฏิบัติการ
- ตรวจหาภาวะซีด: อายุ 18 – 60 ควรตรวจหาภาวะซีด 1 ครั้ง เพื่อให้การดูและรักษาที่เหมาะสม
- ตรวจหาเบาหวาน: อายุ 35 ปีขึ้นไป ควรตรวจทุก 3 ปี ถ้าตรวจเจอเร็วจะรักษาได้เร็ว ป้องกัน และชะลอการเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง
- ตรวจหาไขมันในเลือด : อายุ 20 ปีขึ้นไปควรตรวจทุก 5 ปี ช่วยคัดกรอง และป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง
- แบบประเมินสภาวะสุขภาพของคนวัยทำงานที่จำเป็น สามารถคัดกรองได้ด้วยตนเอง หรือ บุคลากรสาธารณสุข โดยใช้แบบประเมิน ภาวะซึมเศร้า ความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด การติดบุหรี่ สุรา ยาและสารเสพติด เพื่อให้รับคำปรึกษาและการดูแลที่เหมาะสม
อายุมากกว่า 60 ปี
- ตรวจร่างกายทั่วไป ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง BMI และวัดความดันโลหิต อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
- ตรวจสายตา อายุ 60 – 64 ปี ตรวจทุก 2 – 4 ปี อายุ 65 ปีขึ้นไป ตรวจทุก 1-2 ปี เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตและป้องกันการเกิดอุบัติเหตุจากการมองไม่เห็น
- การตรวจทางห้องปฏิบัติการที่จำเป็น ตรวจปัสสาวะ ควรตรวจทุกปี เพื่อคัดกรองความผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะ
- ตรวจหาภาวะซีด ควรตรวจทุกปี เมื่ออายุ 70 ปีขึ้นไป
- ตรวจหาไขมันในเลือด ควรตรวจทุก 5 ปี
- ตรวจหาเบาหวาน ควรตรวจทุกปี
- ตรวจเลือดเพื่อดูการทำงานของไต ควรตรวจทุกปี เพื่อตรวจคัดกรองความผิดปกติของไต
- ตรวจคัดกรองมะเร็ง
- มะเร็งปากมดลูก ตรวจทุก 3 ปีจนถึงอายุ 65 ปี หลังจากนั้นตรวจตามความเหมาะสม
- มะเร็งเต้านม ตรวจ mammogram ทุก 1-2 ปี
- มะเร็งลำไส้ใหญ่ ตรวจเม็ดเลือดแดงในอุจจาระทุกปี
- ประเมินสภาวะสุขภาพในผู้สูงอายุ
- ภาวะโภชนาการ เพื่อลดภาวะทุพโภชนาการ และได้รับสารอาหารอย่างเหมาะสม
- ความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการป้องกันการเกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต
- ความเสี่ยงโรคกระดูกพรุน เพื่อป้องกันการเกิดกระดูกหัก
- ภาวะสมองเสื่อม เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับการดูแลที่เหมาะสมในการดำรงชีวิต
- ภาวะซึมเศร้า เพื่อคัดกรองภาวะซึมเศร้า และได้รับการวินิจฉัยช่วยเหลือที่ถูกต้องและเหมาะสม
การเตรียมตัวก่อน ตรวจสุขภาพประจำปี
- ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 6 ชั่วโมง หากอดนอนจะทำให้ผลการตรวจผิดปกติได้ โดยเฉพาะค่าความดันโลหิต การเต้นของหัวใจ และอุณหภูมิของร่างกาย
- กรุณางดอาหารและเครื่องดื่ม อย่างน้อย 8-10 ชั่วโมงก่อนตรวจ (สามารถจิบน้ำเปล่าได้เล็กน้อย) ในกรณีที่ตรวจหาน้ำตาลในเลือดและไขมันในเลือด
- กรุณางดดื่มแอลกอฮอล์อย่างน้อย 24 ชั่วโมงก่อนตรวจสุขภาพ เนื่องจากแอลกอฮอล์อาจมีผลต่อการตรวจบางอย่าง หากดื่มไปแล้ว ควรแจ้งให้แพทย์หรือพยาบาลให้ทราบก่อนตรวจ
- หากกำลังรับประทานยาเพื่อควบคุมความดันโลหิต สามารถรับประทานต่อได้ตามที่แพทย์แนะนำ
- หากมีโรคประจำตัวหรือประวัติสุขภาพอื่น ๆ กรุณานำผลการตรวจหรือรายงานจากแพทย์มาเพื่อประกอบการวินิจฉัย
- สำหรับสุภาพสตรี ไม่ควรอยู่ในช่วงก่อนและหลังมีประจำเดือน 7 วัน หากมีประจำเดือนให้งดตรวจปัสสาวะ เพราะเลือดจะปนเปื้อนในปัสสาวะ มีผลต่อการแปลผลการตรวจ
- การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยการเอกซเรย์เต้านม (Mammogram) หลีกเลี่ยงการตรวจในช่วงมีประจำเดือน ซึ่งเต้านมมีความคัดตึง ควรตรวจหลังจากมีประจำเดือน
- กรณีสงสัยว่าตั้งครรภ์ โปรดแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบเพื่องดการตรวจเอกซเรย์ และการทำ Fibroscan
สรุป
การตรวจสุขภาพควรมาตรวจอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ไม่ต้องรอให้มีอาการ หรือมีโรคประจำตัวก่อน แล้วค่อยตรวจ เพราะการตรวจสุขภาพประจำปีจะทำให้ได้รู้ว่าร่างกายของตัวเองมีโรคใดที่ซ่อนอยู่หรือไม่
หากตรวจพบความผิดปกติจะได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง หรือหากตรวจพบโรค ก็จะเป็นการตรวจพบตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น โรคยังไม่รุนแรง ซึ่งทำให้รักษาได้อย่างทันท่วงที และมีโอกาศหายขาดได้ นอกจากนี้การตรวจสุขภาพยังจะได้ คำแนะนำของการดูแลสุขภาพที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคลอีกด้วย