ความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับดวงตามักจะเป็นเรื่องที่น่ากลัวเสมอ เพราะถ้าเกิดว่ามีอาการที่ร้ายแรงขึ้นมาก็อาจจะทำให้สูญเสียการมองเห็นได้เลย ดังนั้น การดูแลรักษาดวงตาจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก โดยเฉพาะเมื่ออายุเริ่มมากขึ้น อาการผิดปกติต่าง ๆ ก็ยิ่งเกิดขึ้นได้ง่าย ถ้าอยากปกป้องดวงตาของเราให้มีสุขภาพดีไปนาน ๆ การหมั่นไปตรวจเช็กสุขภาพตาและเช็กความผิดปกติด้วยตัวเองก็เป็นอีกทางที่จะช่วยป้องกันโรคร้ายที่เกิดกับดวงตาของเราได้
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ วุ้นตาเสื่อม
ลูกตาของคนเรานั้นจะมี วุ้นตา (Vitreous) ที่เป็นตัวช่วยในการคงรูปร่างของลูกตา ซึ่งจะอยู่บริเวณช่องตาส่วนหลัง มีลักษณะเป็นเหมือนวุ้นใสๆ มีความหนืดคล้ายกับเนื้อเจลยึดติดอยู่กับจอตา ในตอนยังเด็กหรือช่วงที่อายุยังน้อย วุ้นตาจะประกอบไปด้วยน้ำ ซึ่งคิดเป็น 99% ของทั้งหมด ส่วนอื่น ๆ ประกอบไปด้วยโปรตีน เส้นใยคอลลาเจน กรดไฮยาลูโรนิก และเกลือแร่ต่างๆ แต่เมื่อมีอายุมากขึ้น วุ้นตาก็จะค่อย ๆ เสื่อมสภาพลง เส้นใยต่างๆ ที่เคยมีก็จะหดตัวเป็นก้อน ก่อนให้เกิดเป็นก้อนตะกอนขุ่นๆ จากที่เป็นเนื้อเจลก็จะกลายเป็นน้ำ ตัววุ้นตาก็จะลอกออกมาจากผิวจอตาที่เคยเกาะยึกดติดอยู่ ในช่วงนี้ ผู้ป่วยอาจจะเห็นเป็นจุดดำ ๆ หรือเส้นเล็ก ๆ ลอยไปลอยมาอยู่ในอากาศ เรียกว่าภาวะ Posterior Vitreous Detachment (PVD) และกลายมาเป็นโรควุ้นตาเสื่อม หรือ Vitreous Degeneration ได้
อาการของโรควุ้นตาเสื่อมนั้นจะเริ่มจากผู้ป่วยมองเห็นจุดสีดำลอยอยู่ตรงหน้า บางครั้งอาจจะเป็นเส้นหรือคล้ายกับหยากไย่ และจะมองเห็นเส้นดังกล่าวขณะกรอกตา บางรายจะมีอาการชัดเจนมากขึ้นเมื่อต้องมองไปบนท้องฟ้า หรือผนังที่มีสีฟ้า ตะกอนวุ้นที่อยู่ในตาก็จะมองเห็นชัดเจนมากยิ่งขึ้น ส่วนถ้าอยู่ในที่มืดหรือที่สลัว อาจจมองเห็นเหมือนเป็นแสงสว่างวาบคล้ายกับการเปิดแฟลชถ่ายรูปหรือแสงตอนฟ้าผ่า
สำหรับจุดดำ ๆ ที่มองเห็นและลอยไปมาอยู่ในอากาศนั้นก็คือ เงาตะกอนน้ำวุ้นตา (Floaters) ที่มาจากการที่วุ้นตาของเราเสื่อมสภาพลง เส้นใยและเกลือแร่ต่าง ๆ ที่เคยอยู่ในวุ้นตามีการหดและจับตัวกันเป็นก้อน เกิดเป็นเงาตะกอนสีขุ่น ๆ ขึ้น เราจะเห็นเงาตะกอนวุ้นตาชัดเจนก็ต่อเมื่ออยู่ในที่สว่างหรือเวลามองไปที่ท้องฟ้าก็จะยิ่งเห็นได้ชัด ลักษณะของเงาตะกอนวุ้นตาจะมีทั้งแบบจุดสีดำ แบบเส้นยาว ๆ และแบบหยากไย่ หรือใยแมงมุม การที่เราจะมองเห็นจุดเหล่านั้นสัก 2-3 จุดก็ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาอยู่แล้ว เพราะวุ้นในตาสามารถเสื่อมสภาพได้ ไม่ถือว่าเป็นอาการที่รุนแรง
อาการของโรควุ้นตาเสื่อมนั้นส่วนใหญ่แล้วจะไม่ค่อยเป็นอันตรายเท่าไหร่ แม้จะทำให้เกิดความรำคาญอยู่บ้างแต่ร่างกายและสมองของคนเราจะสามารถปรับตัวให้เข้ากับเงาดำที่เกิดขึ้นนั้นได้ แม้ว่าจะไม่สามารถหายขาดแต่ก็ไม่ได้อันตรายถึงชีวิต แต่ถ้าจุดเงาตะกอนวุ้นตาเริ่มมีผลต่อการมองเห็น และเกิดปัญหาต่อการใช้ชีวิตก็ควรไปพบจักษุแพทย์เพื่อหาวิธักษาจะดีที่สุด
สาเหตุของการเกิดอาการวุ้นตาเสื่อม ส่วนใหญ่จะเป็นเพราะร่างกายของคนเราเกิดการเสื่อมสภาพลงทุกวัน ยิ่งอายุเพิ่มมากขึ้นหลาย ๆ ส่วนก็ยิ่งแย่ วุ้นตาก็เช่นกัน ในตอนที่ยังเด็กก็ยังมีสภาพที่ดี แต่เมื่อโตขึ้นหรืออายุเริ่มเข้าสู่ช่วงวัยกลางคน เส้นใยและเกลือแร่ต่าง ๆ ที่อยู่ในวุ้นตาก็เริ่มหดตัว ทำให้กลายเป็นก้อนขุ่น ๆ ซึ่งก็เป็นผลมาจากการที่วุ้นตาเสื่อมนั่นเอง นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้วุ้นตาเสื่อมได้ เช่น คนที่มีสายตาสั้น คนที่เป็นโรคเบาหวานขึ้นตา เคยมีการอักเสบในตาหรือเคยเกิดอุบัติเหตุขึ้น ล้วนส่งผลต่ออาการเสื่อมของวุ้นตาทั้งนั้น
แม้ว่าการเป็นโรควุ้นตาเสื่อมจะไม่ได้จำเป็นต้องทำการรักษา แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่อาการเริ่มรุนแรงและส่งผลต่อการใช้ชีวิต เช่น มีการฉีกขาดของจอตาร่วมด้วย หรือมีเลือดออกที่จอตา ก็สามารถให้แพทย์ทำการวินิจฉัยเพื่อรับการรักษาได้ โดยการรักษาจะมีทั้งการใช้แสงเลเซอร์ การจี้ด้วยความเย็น เป็นวิธีที่สามารถใช้กำจัดเงาตะกอนวุ้นตาเกิดการระเหิดออกไป หรือทำให้เงานั้นมีขนาดเล็กลง แต่บางรายใช้วิธีนี้ก็ไม่เห็นผลเท่าไหร่ ซึ่งก็สามารถใช้วิธีรักษาอื่นได้ เพราะยังมีการรักษาแบบผ่าตัดระบบวุ้นตาหรือจอประสาทตา เพื่อนำเอาวุ้นตาเก่าที่เสื่อมสภาพออก จากนั้นใส่สารละลายเข้าไปแทนเพื่อคงสภาพของลูกตาให้เหมือนเดิม ซึ่งทุกอย่างจะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น