อาการชาเป็นปัญหาสุขภาพในผู้สูงอายุที่พบได้บ่อย แต่หลายคนอาจมองข้ามเพราะคิดว่าเป็นเรื่องปกติของวัยชรา ความจริงแล้วอาการชาสามารถบ่งชี้ถึงปัญหาสุขภาพที่ซ่อนอยู่ ซึ่งหากปล่อยไว้โดยไม่รักษาอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ บทความนี้จะพาไปรู้จักกับสาเหตุ อาการ และวิธีป้องกันอาการชาในผู้สูงอายุ
อาการชาคืออะไร?
อาการชา (Numbness) คือ ความรู้สึกผิดปกติของระบบประสาทสัมผัส โดยอาจมีอาการคล้ายถูกเข็มทิ่ม หรือสูญเสียความรู้สึกชั่วคราวในบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น มือ เท้า แขน หรือขา บางครั้งอาจร่วมกับอาการเจ็บ ปวดแสบปวดร้อน หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง

สาเหตุของอาการชาในผู้สูงอายุ
อาการชาในผู้สูงอายุอาจเกิดจากหลายสาเหตุ ทั้งจากความเสื่อมของร่างกายและโรคประจำตัว ได้แก่
1. โรคเบาหวาน (Diabetic Neuropathy)
ผู้ป่วยเบาหวานที่มีน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานานอาจทำให้เส้นประสาทถูกทำลาย โดยเฉพาะที่มือและเท้า ทำให้มีอาการชา ปวดแสบปวดร้อน หรือสูญเสียความรู้สึก
2. โรคกระดูกสันหลังเสื่อมหรือหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
เมื่ออายุมากขึ้น หมอนรองกระดูกสันหลังอาจเสื่อมหรือเคลื่อนทับเส้นประสาท ทำให้มีอาการชา ร้าวไปที่แขนหรือขา บางรายอาจมีอาการปวดหลังร่วมด้วย
3. ภาวะขาดวิตามินบี
การขาดโภชนาการในผู้สูงอายุเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่พบบ่อย วิตามินบี โดยเฉพาะ บี1, บี6, บี12 มีความสำคัญต่อการทำงานของระบบประสาท หากขาดวิตามินเหล่านี้ อาจทำให้เกิดอาการชา กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือเหน็บชาบ่อย ๆ
4. โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)
หากมีอาการชาครึ่งซีก ร่วมกับพูดไม่ชัด มุมปากตก แขนขาอ่อนแรง ต้องรีบพบแพทย์ทันที เพราะอาจเป็นสัญญาณของโรคหลอดเลือดสมอง
5. โรคระบบประสาทส่วนกลางเสื่อม
เช่น โรคพาร์กินสัน หรือปลอกประสาทอักเสบ โรคเหล่านี้ส่งผลต่อการทำงานของระบบประสาท ทำให้มีอาการชา สั่น หรือเคลื่อนไหวลำบาก
6. โรคปลายประสาทอักเสบ
การอักเสบของเส้นประสาทส่วนปลาย ซึ่งนอกจากโรคเบาหวานอาจเกิดจากภาวะติดเชื้อ หรือปัจจัยอื่น ๆ สามารถทำให้เกิดอาการชา ปวดแสบร้อน และอ่อนแรงตามปลายมือและปลายเท้า
7. การกดทับเส้นประสาท
การนั่งหรือนอนท่าเดิมนานๆ อาจทำให้เส้นประสาทถูกกดทับ เช่น โรคเส้นประสาทมือถูกบีบอัด (Carpal Tunnel Syndrome) ทำให้มือชาโดยเฉพาะตอนกลางคืน
8. ผลข้างเคียงจากยา
ยาบางชนิด เช่น ยาเคมีบำบัด ยารักษามะเร็ง หรือยาลดความดัน อาจทำให้เกิดอาการชาเป็นผลข้างเคียง
9. โรคอื่นๆ
เช่น โรคไต โรคตับ โรคไทรอยด์ และโรคมะเร็งบางชนิด ก็สามารถทำให้เกิดอาการชาได้เช่นกัน

อาการชาที่ไม่ควรมองข้าม
แม้อาการชาในผู้สูงอายุอาจไม่ใช่ปัญหาร้ายแรงเสมอไป แต่หากมีอาการต่อไปนี้ ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว
1. ชาครึ่งซีก
2. ชาร่วมกับแขนขาอ่อนแรง
3. ชาแล้วไม่หายแม้เปลี่ยนท่า
4. มีอาการชาบ่อย ๆ โดยไม่ทราบสาเหตุ
5. ชาร่วมกับอาการอื่น เช่น เวียนหัว มือสั่น ตามืดบอด
วิธีป้องกันและดูแลอาการชาในผู้สูงอายุ
1. ควบคุมโรคประจำตัว
หากผู้สูงอายุป่วยเป็นเบาหวานหรือความดันโลหิตสูง ควรควบคุมระดับน้ำตาลและความดันให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เพื่อป้องกันเส้นประสาทถูกทำลาย
2. ทานอาหารที่มีวิตามินบี
ปฏิบัติตามหลักโภชนาการสำหรับผู้สูงอายุ และเพิ่มอาหารเช่น เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ไข่ นม ถั่ว ธัญพืช และผักใบเขียว เพื่อบำรุงระบบประสาท
3. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
การเคลื่อนไหวร่างกายช่วยกระตุ้นการไหลเวียนเลือดและลดการกดทับเส้นประสาท การออกกำลังกายที่เหมาะสำหรับผู้สูงอายุ เช่น โยคะ เดิน หรือว่ายน้ำ
4. หลีกเลี่ยงท่าทางที่ทำให้ชา
ดูแลผู้สูงายุไม่ให้นั่งหรือนอนท่าเดิมนานเกินไป เปลี่ยนอิริยาบถบ่อย ๆ และหลีกเลี่ยงการไขว่ห้างหรือกดทับแขนขา
5. ตรวจสุขภาพประจำปี
ผู้สูงอายุควรเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำ เพื่อคัดกรองโรคที่อาจทำให้เกิดอาการชา
6. บำบัดด้วยวิธีธรรมชาติ
– แช่มือหรือเท้าในน้ำอุ่น
– นวดบริเวณที่ชาเพื่อกระตุ้นการไหลเวียนเลือด
– ใช้ยานวดสมุนไพร เช่น น้ำมันมะพร้าวหรือน้ำมันงา

สรุป
อาการชาอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพในผู้สูงอายุที่รุนแรงกว่าที่คิด ดังนั้นจึงไม่ควรนิ่งนอนใจ หากอาการชาเกิดขึ้นบ่อย ๆ หรือรุนแรงขึ้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ การดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสมทั้งด้านอาหาร การออกกำลังกาย การควบคุมโรคประจำตัว และหมั่นตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยลดความเสี่ยงและทำให้ผู้สูงอายุมีชีวิตที่สะดวกสบายขึ้น
อย่าลืมว่า “อาการชาไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ เสมอไป” การใส่ใจและป้องกันแต่เนิ่น ๆ จะช่วยให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ!