อาการบ้านหมุน คือ อาการที่รู้สึกว่าสิ่งแวดล้อมรอบตัวหรือสิ่งของที่มองเห็นหมุนไปหรือรู้สึกว่าตัวเองหมุนไปทั้ง ๆ ที่ตัวเรานิ่งอยู่กับที่ ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของอวัยวะภายในหูชั้นในที่ทำหน้าที่ควบคุมความสมดุลของร่างกาย
เคยมีอาการเหล่านี้ไหม? จู่ ๆ ก็เวียนหัวเหมือนทุกอย่างรอบตัวกำลังหมุนโดยไม่ทราบสาเหตุ เมื่ออาการดีขึ้นหลายคนมักจะชะล่าใจและคิดว่าไม่เป็นอะไร แต่หากเกิดอาการกำเริบในระหว่างขับรถ หรือใช้ชีวิตประจำวันอาจทำให้เสียการทรงตัว ล้มตึง หรือทำให้เกิดอุบัติเหตุต่าง ๆ ได้ โดยอาการที่เกิดขึ้นอาจเป็นสัญญาณเตือนจากร่างกายที่บ่งบอกถึงโรคบางโรคอยู่ เพราะฉะนั้นเรามาทำความรู้จักอาการเหล่านี้ให้มากขึ้น เพื่อเตรียมตัวรับมือกัน
รวมเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับอาการบ้านหมุน
อาการบ้านหมุน คืออะไร ?
อาการบ้านหมุน เป็นอาการที่รู้สึกว่าสิ่งแวดล้อมรอบตัวหรือสิ่งของที่มองเห็นหมุนไปหรือรู้สึกว่าตัวเองหมุนไปทั้ง ๆ ที่ตัวเรานิ่งอยู่กับที่ ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของอวัยวะภายในหูชั้นในที่ทำหน้าที่ควบคุมความสมดุลของร่างกาย จึงทำให้เกิดอาการบ้านหมุน เพราะร่างกายเสียความสมดุลในการทรงตัวทำให้มีอาการ เช่น เห็นเพดานเคลื่อน ผ้าม่านไหล หรือรู้สึกโคลงเคลง สูญเสียการทรงตัว สำหรับในบางรายที่มีอาการรุนแรงอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน มีความรู้สึกเหมือนจะเป็นลม หูอื้อ การได้ยินลดลง หรือมีเสียงในหูร่วมด้วยได้ ซึ่งหากอาการกำเริบอาจส่งผลต่อการทรงตัวและทำให้ผู้ที่มีอาการ เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ โดยส่วนมากอาการบ้านหมุนจะพบได้ในกลุ่มผู้สูงอายุ
บ้านหมุน vs เวียนศรีษะ
อาการเวียนศีรษะบ้านหมุน (Vertigo) ที่จะรู้สึกว่าสิ่งแวดล้อมรอบตัวหมุนหรือตนเองกำลังหมุนไปทั้งที่อยู่กับที่ หรือรู้สึกโคลงเคลงทั้งที่อยู่กับที่หรือไม่มีการเคลื่อนไหว
อาการเวียนศีรษะ (Dizziness) โดยทั่วไปมีลักษณะอาการตั้งแต่สมองตื้อ รู้สึกมึนงง โคลงเคลง ยืนเดินทรงตัวไม่ดี ซึ่งเป็นอาการที่ไม่เฉพาะเจาะจง เกิดได้จากโรคต่าง ๆ เช่น โรคทางระบบไหลเวียนเลือด โรคทางระบบประสาท ภาวะโลหิตจาง เป็นต้น
สาเหตุของการบ้านหมุน
สำหรับอาการบ้านหมุน เวียนหัว สิ่งรอบตัวหมุนจนไม่สามารถทรงตัวได้นั้น เป็นอาการที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งจากความผิดปกติภายในของหูชั้นในที่ทำหน้าที่ควบคุมสมดุลการทรงตัว ปัญหาเกี่ยวกับระบบไหลเวียนของเลือดและสมอง และภาวะเจ็บป่วยทางร่างกาย โดยแบ่งเป็นสาเหตุการเกิดได้จากสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้
- โรคของหูชั้นในที่พบได้บ่อย เช่น โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน โดยสาเหตุของโรคน้ำในหูไม่เท่ากันยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่เมื่อเป็นแล้วมักจะมีอาการบ้านหมุนที่ค่อนข้างรุนแรงและเกิดเป็นระยะเวลานาน ซึ่งทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการ เวียนหัว แบบรู้สึกหมุน หูอื้อ การได้ยินลดลง หรือมีเสียงดังในหู ร่วมกับมีอาการคลื่นไส้อาเจียน และสูญเสียสมดุลของร่างกาย ทำให้เซ หรือ ล้มได้ง่าย
- หินปูนในหูเคลื่อนหรือหลุด (BPPV) เป็นโรคที่ทำให้เกิดอาการเวียนหัว บ้านหมุนที่พบได้บ่อยที่สุด ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดแต่มักพบในผู้สูงอายุ โดยอาการบ้านหมุนจากสาเหตุหินปูนในหูเคลื่อนนี้มักเป็นระยะเวลาสั้น ๆ เป็นช่วงวินาทีแล้วค่อย ๆ หายไป มักเกิดขึ้นทันทีในขณะเปลี่ยนท่าทางของศีรษะ เช่น ระหว่างกำลังล้มตัวลงนอนหรือลุกจากที่นอน เงยหน้า ก้มหยิบของ เป็นต้น
- เส้นประสาทการทรงตัวในหูอักเสบ สาเหตุการเกิดนี้มักพบเจอหลังจากติดเชื้อไวรัส เช่น ไข้หวัดและเชื้อได้ลุกลามเข้าไปในหู หรือเส้นประสาทการทรงตัวในหู จึงทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนรุนแรงนานเป็นวันได้ และหากลุกลามเข้าสู่หูชั้นใน อาการจะรุนแรงมาก อาจมีอาการสูญเสียการได้ยินได้
- ระบบไหลเวียนโลหิต ภาวะความดันโลหิตสูง-ต่ำ น้ำตาลในเลือดต่ำ โลหิตจาง มีส่วนที่ส่งผลต่อการไหลเวียนของเลือดไปยังสมอง ซึ่งสามารถเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการหน้ามืด เวียนหัวได้
- โรคหลอดเลือดสมองแตก หรือตีบ ถือเป็นสาเหตุที่มีความเสี่ยงต่อชีวิต โดยเมื่อหลอดเลือดมีปัญหาจะทำให้เลือดไม่สามารถลำเลียงออกซิเจนและสารอาหารไปเลี้ยงสมองได้ ซึ่งนอกจากจะมีอาการเวียนศีรษะแล้ว อาจมีอาการแขนขาอ่อนแรง ตาพร่ามัว ทรงตัวไม่ได้ หรือมีอาการอัมพฤกษ์ อัมพาตร่วมด้วย
- โรคทางจิตเวช โดยสาเหตุนี้มักจะเกิดจากสภาพจิตใจร่วมด้วย เช่น อาการเวียนหัวอย่างมากเมื่ออยู่ในที่แคบ ที่สูง หรือที่ชุมชน เกิดอาการหายใจไม่เต็มอิ่ม มือเท้าชา และเย็น และแน่นหน้าอก เป็นต้น
- ปัจจัยอื่น ๆ เช่น เครียดวิตกกังวล พักผ่อนไม่เพียงพอ เมารถ หรือเมาเรือ ดื่มสุรา ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด โดยเฉพาะกลุ่มยานอนหลับ ยาคลายกังวล ยาต้านซึมเศร้า ยากันชัก เป็นต้น
บ้านหมุนบอกโรคอะไรได้บ้าง ?
เมื่อเราทราบถึงปัจจัยที่อาจทำให้เกิดอาการบ้านหมุนกันไปแล้ว มาดูต่อกันเลยว่า อาการเหล่านี้กำลังเป็นสัญญาณเตือนที่อาจก่อให้เกิดโรคอะไรได้บ้าง เพื่อที่เราจะได้เตรียมรับมือ และดูแลป้องกันการเกิดโรคต่อไปนี้
โรคทางหู
- หูชั้นนอก อาทิ ขี้หูอุดตัน, หูชั้นนอกอักเสบ, เนื้องอกหูชั้นนอก, กระดูกช่องหูหัก ฯลฯ
- หูชั้นกลาง อาทิ หูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน, หูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง, เลือดคั่งในหูชั้นกลาง, เนื้องอกที่โพรงหลังจมูก ฯลฯ
- หูชั้นใน อาทิ หูชั้นในอักเสบ, เยื่อหุ้มสมองอักเสบ, ความดันน้ำในหูชั้นในผิดปกติ, ผลึกหินปูนในหูชั้นในเคลื่อน, เส้นประสาทการทรงตัวในหูอักเสบ, เนื้องอกประสาทการทรงตัวหรือเส้นประสาทการได้ยิน ฯลฯ
โรคทางสมองและระบบประสาท
- โรคระบบประสาทส่วนกลาง ส่วนใหญ่จากสมองน้อย (Cerebellum)
- ความเสื่อมของระบบประสาทส่วนกลาง
- การติดเชื้อของระบบประสาท
- ไมเกรน
- ภาวะสมองขาดเลือด/ มีเลือดออกในสมอง (Stroke)
โรคอื่น ๆ เช่น
- โรคแพ้ภูมิตัวเอง
- โรคต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยกว่าปกติ
- โรคเลือดจางและอื่น ๆ
- โรคหลอดเลือดตีบจากไขมันในเลือดสูง, โรคความดันโลหิตสูง, โรคเบาหวาน
- โรคกระดูกต้นคอเสื่อม
- โรคไต
- โรคภูมิแพ้
- ภาวะเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ
วิธีการวินิจฉัยสาเหตุ
เมื่อเกิดอาการบ้านหมุนผู้ป่วยมักไม่ทราบสาเหตุ หรือหาสาเหตุไม่พบ เพราะฉะนั้นการตรวจเพื่อค้นหาสาเหตุของโรคจึงเป็นสิ่งที่สำคัญในการป้องกันหรือบรรเทาอาการที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้
- การซักประวัติ : แพทย์จะถามถึงลักษณะของอาการบ้านหมุน ระยะเวลาที่มีอาการ สิ่งที่ไปกระตุ้นให้เกิดอาการ และอาการร่วม
- การตรวจร่างกาย : แพทย์จะตรวจการเคลื่อนไหวของดวงตา การได้ยิน การเดินและการทรงตัวของผู้ป่วย การตรวจเส้นประสาทสมอง และระบบประสาทกลางการวัดความดันโลหิต การเจาะเลือด การถ่ายภาพรังสี เช่นเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (CT scan) หรือเอ็กซเรย์สนามแม่เหล็ก (MRI) เป็นต้น
การปฏิบัติตัวแก้อาการบ้านหมุนเบื้องต้น
- นอนพัก : โดยให้ศีรษะยกขึ้นสูงเล็กน้อยหรืออาจใช้หมอนหนุน 2 ใบ พยายามอย่านอนราบไปกับพื้น จะช่วยบรรเทาอาการเวียนหัวแบบบ้านหมุนได้ดีกว่า
- ดื่มน้ำอุ่นบ่อย ๆ หรือเกลือแร่ : เพื่อลดอาการคลื่นไส้
- เคลื่อนไหวช้า ๆ : ไม่หันหัว ก้ม หรือลุกเดิน ลุกนั่งเร็วเกินไป
- พักในที่สงบ : หลีกเลี่ยงพื้นที่ที่เสียงดัง เนื่องจากเสียงที่ดังเกินไปจะส่งผลต่อหูโดยตรงซึ่งอาจทำให้อาการบ้านหมุนแย่ลงได้
- กินยากลุ่มแก้เวียนหัวหรือแก้เมารถเมาเรือ : ยาแก้เมารถกินครั้งละ 1 เม็ด ทุกๆ 6 ชั่วโมง หรือกินยากลุ่ม ซินนาริซีน หรือ เบต้าฮิสทีน ครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3 ครั้ง พร้อม ๆ กันก็ได้ แต่ยาแก้เมารถเมาเรือจะทำให้ง่วงนอน ดังนั้นต้องระวังเรื่องการใช้เครื่องจักรหรือการขับยานพาหนะ
- ถ้าเวียนหัว บ้านหมุนขณะขับรถ : ให้จอดรถข้างทางเปิดไฟฉุกเฉินทันที
หากมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น พูดไม่ชัด กลืนลำบาก แขนขาอ่อนแรง ชา
ต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที
การรักษา
การรักษานั้นจะแตกต่างกันไปตามสาเหตุและอาการของโรค โดยอาจมีการใช้ยา การหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นของโรค รวมถึงการฟื้นฟูระบบการทรงตัวของหูชั้นในที่ถูกต้อง เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ โรคบ้านหมุนค่อนข้างอันตราย และเป็นสาเหตุให้นำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุหรือเสียชีวิตได้ ดังนั้น หากพบว่ามีอาการควรรีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ