ไข้หวัดใหญ่ คือ โรคระบบทางเดินหายใจรวมถึงจมูก ลําคอ และปอดที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza Virus) สามารถติดต่อกันได้ผ่านการหายใจ ไอ และจาม
ไข้หวัดใหญ่อีกโรคใกล้ตัวที่รุนแรงถึงชีวิต!! เป็นโรคติดต่อที่แพร่จากคนสู่คน ระบาดหนักเป็นประจำทุกปีโดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน (มิถุนายน – ตุลาคม) และฤดูหนาว (มกราคม – มีนาคม) แต่ในฤดูอื่น ๆ ก็พบการระบาดอยู่ไม่น้อย
จากสถิติในประเทศไทยมีผู้ป่วยสูงถึงปีละกว่า 4 แสนราย และมีผู้เสียชีวิตในอัตรา 0.04 ต่อประชากรหนึ่งแสนคนเลยทีเดียว ซึ่งการดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่อย่างถูกวิธี ก็เพื่อการลดโอกาสการเกิดภาวะแทรกซ้อน ที่อาจส่งผลให้เป็นอันตรายรุนแรง
โดยวันนี้เราจะมาแบ่งปันเนื้อหาสาระดี ๆ เกี่ยวกับโรคไข้หวัดใหญ่ ให้ทุกคนได้ทราบกัน
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับไข้หวัดใหญ่
ไข้หวัดใหญ่ คืออะไร ?
ไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคระบบทางเดินหายใจรวมถึงจมูก ลําคอ และปอดที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza Virus) สามารถติดต่อกันได้ผ่านการหายใจ ไอ และจาม
ปัจจุบันมีทั้งหมด 3 สายพันธุ์ คือ A, B และ C แต่ในปัจจุบันสายพันธุ์ที่มีการระบาดอยู่จะมี มีเพียง 2 สายพันธุ์ได้แก่
- ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “ฟลู A” ถือเป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ที่มีความอันตรายมากที่สุด เพราะสามารถกลายพันธุ์ได้ตลอดจนแพร่ระบาดได้เป็นวงกว้าง ซึ่งสามารถแบ่งแยกออกได้เป็น 2 สายพันธุ์ย่อยที่พบบ่อย คือ H1N1 และ H3N2
- ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B หรือเรียกสั้นๆ ว่า “ฟลู B” ที่พบได้บ่อย คือ B Victoria , B Yamagata , B Phuket โดยอาการมักไม่รุนแรงเท่าสายพันธุ์ A
โรคไข้หวัดใหญ่ มีอาการอย่างไร
โรคไข้หวัดใหญ่จะมีอาการคล้ายไข้หวัดธรรมดา แต่อาการมักเกิดขึ้นอย่างฉับพลันและรุนแรงกว่าไข้หวัดธรรมดาซึ่งจะค่อย ๆ แสดงอาการหลังได้รับเชื้อ 1-4 วัน การหมั่นสังเกตอาการจึงเป็นสิ่งสำคัญหากมีอาการน่าสงสัยดังนี้ควรรีบมาพบแพทย์
- มีไข้สูงถึง 39-40 องศาเซลเซียส มีอาการเจ็บคอ มีน้ำมูกใส ไอ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร
- ปวดศีรษะอย่างรุนแรง ปวดบริเวณรอบดวงตา ปวดแขนปวดขา
- อาเจียนหรือท้องเดิน
- หนาวสั่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
- ปกติจะมีไข้ประมาณ 2-4 วัน แล้วไข้จึงค่อย ๆ ลดลง แต่ยังมีอาการคัดจมูกและแสบคออยู่ ประมาณ 1 สัปดาห์จึงหาย
สาเหตุที่ทำให้ติดไข้หวัดใหญ่
เชื้อไวรัส Influenza ติดต่อทางการหายใจ โดยจะได้รับเชื้อที่ออกมาปนเปื้อนอยู่ในอากาศเมื่อผู้ป่วยไอ จาม หรือพูด ในพื้นที่ที่มีคนอยู่รวมกันหนาแน่น เช่น โรงเรียน โรงงาน การแพร่เชื้อจะเกิดได้มาก
นอกจากนี้การแพร่เชื้ออาจเกิดโดยการสัมผัสฝอยละอองน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย (droplet transmission) จากมือที่สัมผัสกับพื้นผิวที่มีเชื้อไวรัส เช่น จับโทรศัพท์ หรือคีย์บอร์ด แล้วใช้มือสัมผัสที่จมูกและปาก
ภาวะแทรกซ้อนของไข้หวัดใหญ่
โดยปกติแล้วผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สามารถหายได้เอง แต่ในบางครั้งอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนทำให้ถึงแก่ชีวิตได้เช่นกัน เช่น โรคปอดอักเสบ และโรคสมองอักเสบ ซึ่งมักเกิดในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคเบาหวาน โรคไต โรคเอดส์ ควรพบแพทย์ทันทีเมื่อทราบว่าตนเองป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้อง และเหมาะสม
ไข้หวัดใหญ่ รักษาได้อย่างไร ?
โดยทั่วไปแล้วผู้ที่ติดเชื้อ จะสามารถหายป่วยได้เองหากมีอาการไม่มากอาจจะดูแลเองที่บ้าน โดยสามารถรักษาตามอาการ เช่น ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตัวเมื่อมีไข้สูง ใช้ยาลดไข้ ยาลดน้ำมูก ยาละลายเสมหะ เช่น ยาลดไข้ พาราเซตามอล ยาละลายเสมหะ เป็นต้น ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย รับประทานอาหารอ่อน ๆ นอนพักมาก ๆ และเลี่ยงการออกกำลังกาย
ข้อควรระวัง : ห้ามกินยาแอสโพริน เพราะจะทำให้เกิดตับอักเสบรุนแรง (Reye Syndrome) ซึ่งเป็นอันตรายได้
แบบไหนเราถึงควรไปพบแพทย์ ?
หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 24 ชม ในเด็ก และ 48 ชม ใน ผู้ใหญ่ ประกอบกับมีอาการที่รุนแรงขึ้น เช่น
- ไข้สูงมากจนเพ้อ ซึม
- หายใจลำบาก แน่นหน้าอก
- หน้ามืด มีอาการขาดน้ำ
ควรเข้าพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย เพราะเนื่องจากอาจเป็นสัญญาณเตือนภาวะแทรกซ้อนของโรคอื่น ๆ
สามารถป้องกันได้อย่างไร ?
การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 100% สุขอนามัยที่ดีสามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เน้นผัก ผลไม้ นม ไข่ กินอาหารปรุงสุกใหม่ ๆ
- ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ หรือแอลกอฮอล์
- ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ ช้อนอาหาร เป็นต้น
- ไม่อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยที่มีอาการไข้หวัด หรือถ้าจำเป็นควรสวมหน้ากากอนามัย
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม และสม่ำเสมอ
- เลี่ยงสถานที่ที่มีผู้คนแออัดและอากาศถ่ายเทไม่ดีเป็นเวลานาน
วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ คืออะไร
วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เป็นวัคซีนชนิดฉีด ผลิตจากเชื้อที่ตายแล้ว โดยผ่านกระบวนการผลิตที่มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันโรคผู้ฉีดวัคซีนแล้วยังอาจเป็นไข้หวัดใหญ่ได้ แต่อาการจะน้อยลงโดยภูมิคุ้มกันจะสร้างขึ้นภายใน 2 สัปดาห์หลังจากได้รับวัคซีน
วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ชนิด 4 สายพันธุ์ต่างจากชนิด 3 สายพันธุ์อย่างไร
วัคซีนชนิดเดิมมีเพียง 3 สายพันธุ์คือ A 2 สายพันธุ์ และ B 1 สายพันธุ์ แต่จากข้อมูลการระบาดจากทั่วโลกพบว่า
- เชื้อไข้หวัดสายพันธุ์ B มีการระบาดร่วมกันทุกปีทั้ง 2 สายพันธุ์ คือ สายพันธ์ุ Victoria และ Yamagata
- สัดส่วนการระบาดของทั้ง 2 สายพันธุ์ไม่แน่นอน จึงเป็นการ ยากที่องค์การอนามัยโลกจะเลือกสายพันธุ์ B ตระกูลใดมาบรรจุในวัคซีนได้อย่างแม่นยำ
***องค์การอนามัยโลกจึงแนะนำให้บรรจุสายพันธุ์ B ทั้ง 2 สายพันธุ์ ในวัคซีนเป็น “วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ชนิด 4 สายพันธุ์” เริ่มตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา
วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์มีประโยชน์อย่างไร
- ลดโอกาสป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่และภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้มากกว่าวัคซีนชนิดอื่น
- ข้อมูลจากทั่วโลกพบการระบาดของเชื้อไข้หวัดใหญ่ถึง 4 สายพันธุ์ ดังนั้นการใช้วัคซีนชนิด 4 สายพันธุ์สามารถป้องกันเชื้อได้มากกว่าวัคซีนชนิดเดิม
- ครอบคลุมเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B ในประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งสายพันธุ์ B มีการระบาดมากถึง 13-55%
- มีความปลอดภัยสูงสามารถใช้ในเด็กเล็กตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไปจนถึงผู้สูงอายุ
เหตุใดต้องฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ทุกปี ?
เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันเชื้อไข้หวัดใหญ่ ให้สูงพอในการป้องกันเชื้อ และเชื้อไวรัสที่ระบาดในแต่ละปีเป็นเชื้อที่ต่างชนิดกัน ดังนั้นจึงต้องฉีดวัคซีนป้องกันสายพันธ์ที่จะระบาดในปีนั้น ๆ
สรุป
ถึงแม้โรคจะมีอาการรุนแรง และส่งผลต่อชีวิตได้ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว แต่ถ้าเรารู้เท่าทันและป้องกันตัวเอง โรคไข้หวัดใหญ่ก็ไม่ใช่โรคที่น่ากลัวอีกต่อไป ยิ่งช่วงหน้าฝนและหน้าหนาวที่มีการระบาดหนัก การดูแลสุขภาพให้แข็งแรงเป็นสิ่งที่สำคัญและการป้องกันที่ดีที่สุดคือการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ และฉีดสม่ำเสมอทุกปี