หูดหงอนไก่ คือ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จากการติดเชื้อไวรัส HPV สายพันธุ์ที่ 6 และ 11 พบได้ทั้งเพศชาย เพศหญิง และเพศทางเลือก (LGBT) ติดต่อเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ การทำออรัลเซ็กส์ การใช้เซ็กส์ทอย หรือการสัมผัสกับเชื้อโดยตรง
เมื่อพูดถึงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หลายๆ คนคงนึกถึงโรคเอดส์ (HIV/AIDS) โรคหนองใน (Gonorrhea) โรคแผลริมอ่อน และโรคซิฟิลิส (Syphilis) แต่รู้หรือไม่? ยังมีอีกโรคที่พบได้บ่อย ทั้งยังเกิดได้ในทุกเพศได้อีกด้วย โรคนั้นก็คือ “โรคหูดหงอนไก่” เป็นโรคที่ติดต่อได้ง่ายเกิดจากการติดเชื้อไวรัส HPV (Human papilloma virus) เชื้อที่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกนั้นเอง
แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคหูดหงอนไก่? หากเป็นแล้วเชื้อจะกลายเป็นมะเร็งได้หรือไม่? สามารถรักษาและป้องกันได้อย่างไร? ในบทความนี้หมอจะมาอธิบายให้ทุกคนได้ทราบกันครับ
รวมทุกเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับหูดหงอนไก่
หูดหงอนไก่คืออะไร มีสาเหตุมาจากอะไร?
หูดหงอนไก่ (Genital warts, Condyloma acuminata) เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบได้บ่อยที่สุด เกิดจากการติดเชื้อไวรัส Human Papilloma Virus (HPV) สายพันธุ์ที่ 6 และ 11 เชื้อไวรัสชนิดนี้สามารถทำให้เกิดหูดได้หลายชนิด ทั้งหูดที่ผิวหนัง หูดที่เยื่อบุปาก หูดที่ช่องปาก และหูดที่อวัยวะเพศ
หูดหงอนไก่สามารถพบได้ทั้งเพศชาย เพศหญิง และเพศทางเลือก (LGBT) พบได้ในทุกช่วงวัยทั้ง วัยเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงวัย โดยจะพบได้บ่อยมากขึ้นในผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ
การติดต่อเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ การทำออรัลเซ็กส์ การใช้เซ็กส์ทอย หรือการสัมผัสกับเชื้อโดยตรง และยังสามารถติดต่อได้จากการคลอดผ่านทางช่องคลอดของมารดาที่ป่วยเป็นโรคหูดหงอนไก่ ทารกจะติดเชื้อจากมารดาได้ ซึ่งกรณีนี้เกิดได้น้อย
การเป็นหูดหงอนไก่สามารถพัฒนาไปเป็นมะเร็งปากมดลูกได้ไหม?
การติดเชื้อไวรัส HPV สายพันธุ์ที่ 6 และ 11 ที่เป็นสาเหตุของการเกิดหูดหงอนไก่ เชื้อสายพันธุ์นี้ไม่พัฒนากลายไปเป็นมะเร็งปากมดลูก แต่ร่างกายของมนุษย์ยังสามารถติดเชื้อ HPV ได้อีกหลายสายพันธุ์พร้อม ๆ กัน หากมีพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อแล้ว อาจทำให้เสี่ยงติดเชื้อชนิดที่มีความเสี่ยงการเกิดมะเร็งสูงอย่างสายพันธุ์ที่ 16 หรือสายพันธุ์ที่ 18 ได้เช่นกัน
หูดหงอนไก่อาการเป็นอย่างไร อันตรายไหม?
หูดหงอนไก่แม้ไม่ได้มีความรุนแรงจนถึงขั้นทำให้เสียชีวิต แต่สำหรับผู้ป่วยที่มีร่องรอยของโรคปรากฏออกมาอาจส่งผลต่อสภาพทางร่างกายและจิตใจได้ อาจทำให้มีความไม่สบายใจ เครียด วิตกกังวล ซึมเศร้า อับอาย และอาจส่งผลต่อความสัมพันธ์กับคู่รักตามมาได้
โดยคนส่วนใหญ่ที่มีภูมิคุ้มกันดี หลังจากได้รับเชื้อนี้เข้าสู่ร่างกายแล้วมักไม่มีอาการใด ๆ แสดงออกมา หรือในบางรายอาจมีอาการคันบริเวณที่มีหูดหงอนไก่ปรากฎขึ้น และเกิดเป็นติ่งเนื้อนูนขึ้น เรียบหรือขรุขระเล็กน้อย เมื่อขยายโตขึ้นลักษณะคล้ายดอกกระหล่ำ
- ผู้ชาย : มักจะเกิดใต้หนังหุ้มปลายองคชาติ บริเวณองคชาติที่ขลิบแล้ว รอบทวารหนัก รูทวารหนัก และถุงอัณฑะ หากหูดมีการติดเชื้ออาจมีหนอง คัน และมีกลิ่นได้ และหากหูดมีขนาดใหญ่อาจทำให้มีปัญหาเรื่องปัสสาวะไม่ออก
- ผู้หญิง : พบได้ที่ปากช่องคลอด ผนังช่องคลอด ปากมดลูก ทวารหนัก และฝีเย็บหูดจะเริ่มจากขนาดเล็กๆ และโตขึ้นเรื่อยๆ จนมีอาการเจ็บหรือมีเลือดออกจากก้อน อาจตามมาด้วยอาการมีเลือดออกหลังจากมีเพศสัมพันธ์
- ทารก : ทารกที่เกิดมามีหูดหงอนไก่เกิดขึ้นบริเวณลำคอ หลอดลม และกล่องเสียง จนไปขัดขวางทางเดินหายใจได้ ทำให้ต้องทำการผ่าตัดออก
ปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงในการติดเชื้อ
- ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อทั้งชาย-หญิง และเพศเดียวกัน ทั้งทางช่องคลอด ทวารหนัก และปาก
- ผู้ที่มีคู่นอนหลายคน เปลี่ยนคู่นอนบ่อย
- มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย
- การสัมผัสกับอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายที่มีเชื้อ HPV เช่น ปาก มือ นิ้วมือ นิ้วเท้า
- การใช้สิ่งของร่วมกับผู้ที่ติดเชื้อ เช่น แก้วน้ำ ลิปสติก มีดโกน ผ้าเช็ดตัว แปรงสีฟัน หรือของใช้ส่วนตัวอื่น ๆ
- การเข้าห้องน้ำสาธารณะ
- ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ติดเชื้อเอชไอวี เป็นเบาหวานที่ควบคุมไม่ดี หรือได้รับยากดภูมิคุ้มกัน
- ผู้ที่เคยเป็นโรคเริมมาก่อน แล้วหากมีเชื้อหูดหงอนไก่เข้าไปเพิ่มเป็นภาวะโรคแทรกซ้อน
- ผู้ที่สูบบุหรี่ พบว่าผู้ที่สูบบุหรี่จะเกิดความเสี่ยงเป็นโรคหูดหงอนไก่มากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่
- การติดเชื้อจากการคลอดจากมารดาที่มีเชื้อ
โรคหูดหงอนไก่สามารถเป็นซ้ำได้หรือไม่?
โรคหูดหงอนไก่ สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีกได้ถึงร้อยละ 30-70 ภายในระยะเวลา 6 เดือน หากเกิดการติดเชื้อซ้ำจากการมีเพศสัมพันธ์ หรือการเกิดรอยโรคจากเชื้อในร่างกายตนเองที่แสดงออกมา และการรับประทานยาไม่สม่ำเสมอไม่มีประสิทธิภาพทำให้เชื้อยังคงอยู่ในร่างกาย
อาการแทรกซ้อนของหูดหงอนไก่
ผู้ที่เป็นหูดหงอนไก่อาจพบอาการอื่นแทรกซ้อนตามมาได้ เช่น มีตกขาวมากผิดปกติ อาการคันระคายเคือง อักเสบ ติดเชื้อแบคทีเรีย มีเลือดออกหรือปวดบริเวณหูด และอาจเสี่ยงต่อโรคมะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด มะเร็งองคชาต หรือมะเร็งทวารหนักได้ในอนาคตได้จากการติดเชื้อ HPV สายพันธุ์อื่นได้เช่นกัน
วิธีรักษาหูดหงอนไก่
ปัจจุบันการรักษาหูดหงอนไก่ทำได้หลายวิธี แต่เชื้อ HPV จะยังคงอยู่ในร่างกายตลอดไป แต่ไม่ได้เป็นอันตรายกับร่างกาย การรักษาจะขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของโรค รวมทั้งจำนวนและตำแหน่งของหูดหงอดไก่ด้วย ผู้ป่วยจำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสม
การทายา (Topical medications)
โดยแพทย์จะทำการนัดทายาที่โรงพยาบาลสัปดาห์ละครั้ง ทุกสัปดาห์ เป็นการทายาทั้งภายนอกและอวัยวะภายในที่เป็นหูด ยาทาที่ใช้รักษาหูดหงอนไก่ ได้แก่ ยา podophyllotoxin, ยา imiquimod และยา cidofovir
การจี้ไฟฟ้า (Electrocautery)
การใช้อุปกรณ์หัวจี้ที่ให้ความร้อนสูงจี้บริเวณที่มีหูดขึ้นเพื่อกำจัดหูดให้หายไปโดยคุณหมอจะทำการฉีดยาชาให้ก่อนทำการจี้ เป็นวิธีรักษาหูดหงอนไก่ที่มีประสิทธิภาพสูง ใช้เวลาในการรักษาไม่นาน แต่อาจทำให้เกิดแผลเป็นได้
การจี้เย็นด้วยไนโตรเจนเหลว (Liquid nitrogen cryotherapy)
การจี้เย็นแบบนี้จะทำเพื่อยับยั้งการเติบโตของหูดและให้หูดหลุดไป
การผ่าตัด
หากพบว่าผู้ป่วยมีหูดหงอนไก่ขนาดใหญ่และไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา แพทย์อาจพิจารณาใช้การผ่าตัดเพื่อกำจัดเอาหูดออกรวมถึงผ่าเอาชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจ
วิธีป้องกัน
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีที่สามารถป้องกันได้ 100% แต่หูดหงอนไก่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันการเกิดโรคคือการหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน และการฉีดวัคซีนป้องกัน HPV ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย
- การฉีดวัคซีน HPV HPV เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัส HPV ทั้ง 9 สายพันธุ์ ซึ่งรวมถึงสายพันธุ์ที่ 6 และ 11
- ใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์
- หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง เช่น มีคู่นอนหลายคน
- รักษาความสะอาดของร่างกาย ก่อนและหลังมีเพศสัมพันธ์
- ตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอ ทั้งตัวเองและคู่นอน
- ดูแลร่างกายให้แข็งแรงจากภายใน พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียด เพื่อเสริมภูมิคุ้มกัน
สรุปเกี่ยวกับหูดหงอนไก่
โรคหูดหงอนไก่แม้ไม่ใช่โรคที่อันตรายถึงชีวิต แต่อาจส่งผลต่อสภาพจิตใจและชีวิตคู่ได้ สำหรับผู้ที่เป็นแล้วยังมีโอกาสที่กลับมาเป็นซ้ำได้อีก เพราะฉะนั้นหากมีอาการน่าสงสัยควรรีบมาพบแพทย์เพื่อหาวิธีรักษาที่เหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้โรคลุกลามและแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น