ไข้เลือดออก คือ โรคติดต่อที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue virus) โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค โดยจะมีอาการมีจุดเลือดเล็กบริเวณแขน ขา ลำตัว และมีไข้สูง ปวดหัว คลื่นไส้ เบื่ออาหาร
ยุงลายพาหะตัวร้าย…ทำให้ป่วย “ไข้เลือดออก” ยิ่งช่วงหน้าฝนแบบนี้ต้องดูแลตัวเองและคนในครอบครัวเป็นพิเศษ เพราะในช่วงที่ฝนตกอาจทำให้มีน้ำขังตามภาชนะต่าง ๆ หรือมีแอ่งน้ำจนเป็นแหล่งเพราะพันธุ์ของลูกน้ำยุงลาย ความน่ากลัวของโรคนี้คือเมื่อยุงลายที่มีเชื้อไวรัสอยู่มากัดคน จะถ่ายทอดเชื้อจนทำให้มีอาการป่วย สำหรับบางรายที่มีอาการรุนแรงอาจทำให้ระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว ช็อก และเสียชีวิตได้
เพราะฉะนั้นมาทำความรู้จักโรคไข้เลือดออกกันให้มากขึ้น และเตรียมพร้อมรับมืออย่างถูกวิธีจะช่วยลดความเสี่ยงจากการป่วยไข้เลือดออกและลดโอกาสการเสียชีวิตกันดีกว่าครับ
ทำความรู้จักโรคไข้เลือดออก
โรคไข้เลือดออก (Dengue fever) คือ โรคติดต่อแต่ไม่ใช่โรคติดต่อโดยตรงจากคนสู่คนเหมือนไข้หวัด แต่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue virus) โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค
เมื่อยุงลายตัวเมียดูดเลือดจากผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสเดงกีเข้าไป เชื้อไวรัสจะฟักตัวและเพิ่มจำนวน เมื่อยุงที่มีไวรัสอยู่ไปกัดคนเชื้อจะเข้าสู่กระแสเลือดของผู้ถูกกัด ทำให้ติดเชื้อและป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกได้ภายใน 3 – 15 วัน
โรคไข้เลือดออกเป็นซ้ำได้หรือไม่?
สามารถติดเชื้อซ้ำได้ครับ เพราะเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue virus) มี 4 สายพันธุ์ ได้แก่ DENV-1, DENV-2, DENV-3 และ DENV-4 ในประเทศไทยพบการระบาดทั้ง 4 สายพันธุ์ แต่จะแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่
สำหรับคนที่เคยเป็นไข้เลือดออกมาแล้วก็อย่าเพิ่งชะล่าใจไป เพราะยังสามารถติดเชื้อไวรัสซ้ำได้หลายครั้ง!! เมื่อติดเชื้อสายพันธุ์ใดแล้วร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์นั้นไปตลอด แต่จะมีภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์อื่นเพียงชั่วคราว และในครั้งที่ 2 จากการติดเชื้ออาการของโรคมักจะหนักมากกว่าครั้งก่อน มีความรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
โรคไข้เลือดออก มีอาการอย่างไร?
ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสเดงกี (DENV) ที่เป็นสาเหตุของโรคไข้เลือดออกครั้งแรกส่วนใหญ่มักไม่มีอาการ หรือมีอาการไม่รุนแรงคล้ายไข้หวัดธรรมดา แต่ถ้าติดเชื้อครั้งที่ 2 โดยเป็นเชื้อต่างสายพันธุ์กันอาจมีอาการรุนแรงได้ โดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะดังนี้
ระยะไข้สูง (Febrile phase)
ผู้ป่วยจะมีไข้สูงลอย 39-40 องศาเซลเซียส ติดต่อกัน 2-7 วัน โดยมีอาการคล้ายไข้หวัดแต่ไม่มีน้ำมูกและไม่มีอาการไอ และมักไม่ตอบสนองต่อยาลดไข้ อาการที่พบในระยะนี้มีดังนี้
- ปวดศีรษะ หน้าแดง
- ปวดกระบอกตา
- คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร
- ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
- ปวดข้อ หรือปวดกระดูก
- จุดเลือดเล็กบริเวณแขน ขา ลำตัว รักแร้
- อาจมีอาการปวดท้อง (บริเวณชายโครงขวา) กดเจ็บบริเวณลิ้นปี่
- ปวดท้อง ถ่ายอุจจาระสีดำร่วมด้วย
ระยะวิกฤต (Critical phase)
ระยะนี้จะเกิดภายใน 1-2 วันหลังจากไข้เริ่มลดลง แต่อาการทั่วไปจะดูเพลียมากขึ้น เกล็ดเลือดลดต่ำลงอย่างมาก เป็นระยะที่ต้องเฝ้าระวังมากที่สุดง เสี่ยงต่อภาวะช็อกเนื่องจากอาจมีเลือดออกที่อวัยวะภายใน เช่น อาเจียนเป็นเลือด น้ำเหลืองรั่วไหลไปยังช่องปอด ตับ หรือช่องท้อง ทำให้ความดันโลหิตต่ำ ชัก หมดสติ และหัวใจหยุดเต้นที่นำไปสู่การเสียชีวิตในที่สุด อาการที่พบในระยะนี้มีดังนี้
- ปวดท้องอย่างรุนแรง (บริเวณชายโครงขวา) ที่อาจมีสาเหตุจากภาวะตับโต (Hepatomegaly)
- คลื่นไส้ อาเจียนอย่างต่อเนื่อง เบื่ออาหาร โดยอาการไม่ดีขึ้นหลังจากรับประทานยา
- เลือดออกตามไรฟัน เลือดกำเดาไหล
- ปัสสาวะหรืออุจจาระปนเลือด หรืออาเจียนเป็นเลือด
- มีจ้ำเลือด หรือจุดเลือดออกเล็ก ๆ ตามผิวหนัง
- เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย มีอาการซึม
- หายใจลำบาก หายใจถี่เร็ว
- มีเหงื่อออกตามตัว
- หิวน้ำมาก
- มือเท้าเย็น ตัวเย็น
- ปัสสาวะออกน้อย
- ความดันโลหิตไม่สม่ำเสมอ วัดชีพจรไม่ได้ หรือความดันโลหิตลดต่ำในผู้ที่มีอาการรุนแรง
- ภาวะช็อก หรือเสียชีวิตได้
ดังนั้นหากมีไข้สูงติดต่อกันเกิน 2 วันแล้วอาการยังแย่ลง หรือมีอาการเหล่านี้
แนะนำให้รีบพบแพทย์ทันที!! และห้ามซื้อยารับประทานเองเด็ดขาด
ระยะฟื้นตัว (Recovery phase)
เป็นระยะสุดท้ายของการเป็นไข้เลือดออก ผ่านพ้นระยะวิกฤตมาแล้ว 1 – 2 วันจะเข้าสู่ระยะฟื้นตัว โดยเกล็ดเลือดจะเริ่มกลับสู่ภาวะปกติ ชีพจรและความดันโลหิตเริ่มคงที่ดีขึ้น อาการทั่วไปจะดีขึ้น อาการที่พบในระยะนี้มีดังนี้
- อาการทั่วไปดีขึ้นตามลำดับ
- ไข้ลดลง อุณหภูมิร่างกายเป็นปกติ
- ชีพจรเต้นแรงขึ้น ความดันโลหิตสูงขึ้น
- ปัสสาวะออกมากขึ้น
- ภาวะตับโตลดลงภายใน 1-2 สัปดาห์
- รับประทานอาหารได้มากขึ้น
- มีผื่นสีแดงเล็ก ๆ สาก ๆ เป็นวงสีขาวขึ้นตามร่างกาย
- ผู้ป่วยอาจยังรู้สึกอ่อนล้าไปได้อีกหลายสัปดาห์ แต่อาการต่าง ๆ จะค่อยหายไปจนเป็นปกติ
อาการแทรกซ้อนของโรคไข้เลือดออก
- ภาวะเลือดออกรุนแรงที่อวัยวะภายใน ทำให้อวัยวะภายในล้มเหลว ความดันโลหิตต่ำ ภาวะช็อก และอาจทำให้เสียชีวิตได้
- อาจเป็นปอดอักเสบ หลอดลมอักเสบแทรกซ้อนได้ หรืออาจเกิดภาวะปอดบวมน้ำได้อีกด้วย
- การติดเชื้อไวรัสเดงกีจากแม่สู่ลูกผ่านการคลอดตามธรรมชาติ และคุณแม่ที่เป็นไข้เลือดออกระหว่างตั้งครรภ์ มีความเสี่ยงสูงที่จะคลอดก่อนกำหนด ทารกมีน้ำหนักแรกเกิดต่ำ หรือเสี่ยงต่อการเสียชีวิตของทารกในครรภ์
กลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นไข้เลือดออกแล้วอาการรุนแรง
โรคไข้เลือดออกเป็นภัยร้ายใกล้ตัวที่สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกเพศทุกวัย แต่กลุ่มเสี่ยงที่เมื่อเป็นแล้วอาจมีอาการรุนแรงมากกว่ากลุ่มอื่นได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคอ้วน และผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน หัวใจ ความดันโลหิตสูง เป็นต้น
การป้องกันโรคไข้เลือดออกมีวิธีการอย่างไร?
โรคไข้เลือดออกมีสาเหตุมาจากการถูกยุงลายที่มีเชื้อไวรัสเดงกีมากัด ดังนั้น วิธีการป้องกันที่ดีที่สุด คือ การป้องกันไม่ให้ถูกยุงลายกัด โดยวิธีการป้องกันโรคไข้เลือดออกมีดังนี้
ป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงกัด
- สวมเสื้อผ้าให้มิดชิด สวมถุงเท้า และทาโลชั่นหรือพ่นสเปรย์กันยุง
- กางมุ้งนอนเพื่อป้องกันยุงกัดขณะหลับ
- ไม่นั่งอยู่ในมุมมืด เนื่องจากจะเป็นที่ยุงชุม และอาจถูกกัดได้โดยไม่รู้ตัว
กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย
- ปิดฝาภาชนะเก็บน้ำอย่าง อ่างน้ำ ถังรองน้ำ และถังขยะให้มิดชิดเพื่อป้องกันยุงมาวางไข่
- เปลี่ยนน้ำในแจกันดอกไม้ และเทน้ำขังออกจากถาดรองกระถางต้นไม้เป็นประจำ
- ปิด คว่ำ หรือทำลายวัสดุรอบ ๆ ตัวบ้าน ที่น้ำอาจเข้าไปขังได้ เช่น ขวด กระป๋องเปล่า ยางรถยนต์ที่ไม่ใช้งานแล้ว
- ปล่อยปลาหางนกยูง กินลูกน้ำในภาชนะใส่น้ำถาวร
การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก 4 สายพันธุ์
ปัจจุบันประเทศไทยได้นำวัคซีนที่สามารถช่วยป้องกันไข้เลือดออกจากเชื้อไวรัสเดงกีทั้ง 4 สายพันธุ์มาใช้ (New 4 serotype dengue fever vaccine) เป็นวัคซีนรุ่นล่าสุดที่ถูกพัฒนามาโดยสามารถฉีดได้ทั้งในคนที่เคยเป็น หรือไม่เคยเป็นไข้เลือดออกมาก่อน มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคไข้เลือดออกได้ถึง 80.2% และป้องกันความรุนแรงของโรคได้ถึง 93.2% สามารถเข้ารับการฉีดได้ตั้งแต่อายุ 4 – 60 ปี
การรักษาโรคไข้เลือดออก
หลังจากแพทย์ซักประวัติและตรวจวินิจฉัย เมื่อพบว่าเป็นไข้เลือดออกแพทย์จะรักษาตามอาการและความรุนแรง แต่โรคไข้เลือดออกยังไม่มียารักษาแบบเฉพาะเจาะจง แพทย์จะให้ยาแก้ปวดลดไข้ (Strong pain relievers) เช่น ยาพาราเซตามอน (Acetaminophen) หรือ ยาอะเซตามีโนเฟน (Acetaminophen) เพื่อช่วยลดไข้ บรรเทาปวดกล้ามเนื้อและข้อ สำหรับผู้ที่มีอาการในระยะไข้สูงจนถึงระยะวิกฤตที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีสารน้ำรั่วไหลในร่างกาย แพทย์จะให้การดูแลอย่างใกล้ชิดในช่วง 24-48 ชั่วโมงเพื่อป้องกันภาวะช็อก