“ไข้หวัดธรรมดา และไข้หวัดใหญ่” เป็นโรคที่พบได้บ่อยในประเทศไทย โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว (มกราคม – มีนาคม) และฤดูฝน (มิถุนายน – ตุลาคม) จะพบการระบาดมากขึ้นเป็นพิเศษ เพราะมีอุณหภูมิความชื้นเพิ่มขึ้น เชื้อโรคเจริญเติบโตได้ดีและยังแพร่เชื้อได้ง่าย
แม้ทั้งสองโรคนี้จะเป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจเหมือนกัน มีอาการเริ่มต้นคล้ายกันแต่โรคไข้หวัดใหญ่จะมีอาการรุนแรงและอาจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายที่ส่งผลถึงชีวิตได้ โดยเฉพาะเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว
เพราะฉะนั้นมาทำความความเข้าใจเกี่ยวกับ ไข้หวัดธรรมดา vs ไข้หวัดใหญ่ กันให้มากขึ้น อาการแบบไหนเรียกไข้หวัดใหญ่? ภาวะแทรกซ้อนที่ควรเฝ้าระวังมีอะไรบ้าง? มีวิธีป้องกันและรักษาอย่างไร? เพื่อเตรียมตัวรับมือและดูแลตนเองและคนในครอบครัวให้ห่างไกลจากโรคนี้กันค่ะ
รวมเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการไข้หวัดธรรมดา vs ไข้หวัดใหญ่
ไข้หวัด (Common Cold) เป็นอย่างไร?
ไข้หวัดเป็นโรคติดเชื้อที่พบได้บ่อย สามารถเกิดได้ตลอดทั้งปี มีสาเหตุเกิดจากการติดเชื้อไวรัสซึ่งมีหลายสายพันธุ์ มีความรุนแรงไม่มากเมื่อเทียบกับไข้หวัดใหญ่ และสามารถหายได้เองใน 2-5 วัน ติดต่อกันทางน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ และการหายใจเอาเชื้อที่กระจายจากการ ไอ จาม เข้าสู่ร่างกายจนกลายเป็นไข้หวัดได้ค่ะ
อาการของไข้หวัด
- มีไข้ต่ำ ไม่เกิน 38 องศาเซลเซียส หรือไม่มีไข้
- มีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และอ่อนเพลียเล็กน้อย
- น้ำมูกไหล คัดจมูก หายใจไม่สะดวก
- ไอ จาม เจ็บคอในระยะแรกเริ่ม
- เจ็บหน้าอก แต่ไม่รุนแรง
- ระคายเคืองตา หรือมีตาแดง
สำหรับผู้ใหญ่อาจไม่มีไข้ มีเพียงอาการคัดจมูก มีมูกน้ำมูกใสไหลนาน 10 – 14 วัน (ยกเว้นผู้ที่มีโรคประจำตัวเป็นโรคทางการหายใจ อาจมีอาการรุนแรงมากกว่า)
อาการแทรกซ้อนของไข้หวัดธรรมดา
แม้โรคไข้หวัดจะมีอาการรุนแรงน้อยกว่าไข้หวัดใหญ่และสามารถหายได้เอง แต่ก็อาจจะมีอาการแทรกซ้อนที่รุนแรงได้เช่นกัน
เพราะเมื่อป่วยเป็นไขเหวัด ระบบภูมิคุ้มกันจะอ่อนแอลง ทำให้แบคทีเรียมีโอกาสแพร่เชื้อร่วมกับเชื้อไวรัส จึงทำให้เกิดเป็นอาการแทรกซ้อนอย่าง ทอนซิลอักเสบ ไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบได้ และสำหรับเด็กเล้กอาจทำให้เกิดอาการชัก หรือวิงเวียนศีรษะเนื่องจากอวัยวะควบคุมการทรงตัวที่อยู่ภายในหูอักเสบหรือที่เรียกว่า “หวัดลงหู”
อาการที่ควรรีบมาพบแพทย์
- มีน้ำมูกหรือเสลดข้นสีเหลือง หรือเขียว ซึ่งเกิดจากการอักเสบแทรกซ้อนของเชื้อแบคทีเรีย
- เจ็บหน้าอกรุนแรง หายใจเหนื่อย หอบ หมดสติ โดยมักเกิดในผู้สูงอายุหรือผู้มีโรคประจำตัว
- มีอาการท้องเดินหรือถ่ายเป็นมูก ถ้ามีอาการเกิน 4 วันอาจพบเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน
การรักษา ไข้หวัดธรรมดา
อาการไข้หวัดที่ไม่รุนแรง สามารถรักษาได้ตามอาการ เช่น การรับประทานยาบรรเทาอาการปวดลดไข้พาราเซตามอล และยาแก้ไอ และการดูแลสุขภาพ พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมาก
ไข้หวัดใหญ่ (Influenza) เป็นอย่างไร?
ไข้หวัดใหญ่ อาการมักเกิดขึ้นอย่างฉันพลันและรุนแรงกว่าไข้หวัดธรรมดา และมีโอกาสที่จะเกิดอาการแทรกซ้อนที่ร้ายแรงถึงชีวิตได้ โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคเบาหวาน โรคไต โรคเอดส์ เมื่อป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ควรพบแพทย์ทันที
ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจอย่างเฉียบพลันที่เกิดจาก เชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา (influenza virus) หรือไวรัสไข้หวัดใหญ่ ซึ่งมีหลายสายพันธุ์ ติดต่อได้จากน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ และการหายใจเอาเชื้อที่กระจายจากการ ไอ จาม เข้าสู่ร่างกายเช่นเดียวกับไข้หวัด
สายพันธุ์ของเชื้อไข้หวัดใหญ่
- สายพันธุ์ A ตัวอย่างเช่น H1N1 และ H3N2 ซึ่ง 2 สายพันธุ์นี้ เป็นสายพันธุ์ที่พบบ่อยที่สุดทั่วโลก
- สายพันธุ์ B มาจากเชื้อตระกูล Victoria และ Yamagata โดยอาการมักไม่รุนแรงเท่าสายพันธุ์ A
- สายพันธุ์ C พบได้น้อยมาก โดยหากติดเชื้อสายพันธุ์นี้ มักไม่แสดงอาการ หรือมีอาการไม่รุนแรง
อาการของไข้หวัดใหญ่
อาการแรกเริ่มจะมีอาการคล้ายไข้หวัด แต่จะรุนแรง และมีอาการร่วมมากกว่า ดังนี้
- มีไข้สูง 39-40 องศาเซลเซียส ประมาณ 2 – 4 วัน
- หนาวสั่น และเหงื่อออก
- ปวดเมื่อยตามตัวมาก และอ่อนเพลีย
- เจ็บคอและไอแห้ง โดยอาการไอจะรุนแรงกว่าไข้หวัดธรรมดา
- คัดจมูก น้ำมูกไหล และจาม
- มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน และท้องเสีย
*ข้อควรระวัง* หากมีอาการเสี่ยงคล้ายไข้หวัดใหญ่ ไม่ควรซื้อยากลุ่มแอสไพรินมารับประทานเด็ดขาด เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายต่ออวัยวะภายใน โดยเฉพาะตับและสมอง ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด
อาการแทรกซ้อนของไข้หวัดใหญ่
ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อย ได้แก่ หูชั้นกลางอักเสบ ไซนัสอักเสบ หลอดลมอักเสบ และปอดอักเสบ ซึ่งภาวะภาวะแทรกซ้อนที่พบได้น้อย ได้แก่ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ปลายประสาทอักเสบ
หมั่นสังเกตอาการหากมีไข้สูงหลายวันไม่ทุเลาลง พร้อมมีอาการร่วมน่าสงสัยของไข้หวัดใหญ่ ควรรีบพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยและเฝ้าระวังทันที เพราะอาจทำให้อันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้
กลุ่มที่เสียงต่อการเสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่
- ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป
- ผู้ที่มีโรคเรื้อรังประจำตัว เช่น โรคปอด โรคหัวใจ โรคไต เบาหวาน ภูมิคุ้มกันบกพร่อง โรคเอดส์ เป็นต้น
- เด็กที่อายุน้อยกว่า 2 ปี
- ผู้ที่ทานยาแอสไพรินเป็นเวลานาน
- หญิงที่ตั้งครรภ์ในฤดูกาลที่มีไข้หวัดใหญ่ระบาด และมีอายุครรภ์ตั้งแต่ 12 สัปดาห์ขึ้นไป
- ผู้ที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 100 กิโลกรัม หรือดัชนีมวลกายตั้งแต่ 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร
- ผู้พิการทางสมอง การดูแลป้องกันตนเองอาจทำได้ไม่ดีเท่าคนทั่วไป ทำให้มีโอกาสเจ็บป่วยได้ง่าย
การป้องกันไข้หวัดใหญ่
- หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับคนที่ป่วยเป็นไข้หวัด
- ล้างมือให้สะอาดบ่อย ๆ ด้วยสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะก่อนและหลังรับประทานอาหาร
- หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้าของตนเองโดยไม่จำเป็น
- ดูแลร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ ด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ ทานอาหารที่มีประโยชน์ถูกหลักอนามัย และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- โรคไข้หวัดใหญ่สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนปีละครั้ง โดยการฉีดวัคซีนจะช่วยลดโอกาสติดเชื้อแล้ว และยังช่วยลดอาการรุนแรงและภาวะแทรกซ้อนอันตรายของโรคได้อีกด้วย ในปัจจุบันแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป โดยเฉพาะสำหรับเด็ก ผู้สูงอายุ และกลุ่มเสี่ยง
วิธีรักษาไข้หวัดใหญ่
สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ อาการไม่รุ่นแรงและไม่ได้เป็นกลุ่มเสี่ยงสามารถรักษาตามอาการได้ เช่น รับประทานยาลดไข้ ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตามตัว รับประทานยาลดน้ำมูก ยาละลายเสมหะเมื่อมีน้ำมูก ดื่มน้ำให้เพียงพอ (ไม่ควรรับประทานยาแอสไพรินเด้ดขาด) แต่สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการไข้หวัดใหญ่รุนแรง แนะนำให้รีบพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยอาการอย่างใกล้ชิด