ในยุคที่ที่มีคนเข้าใจในโรคทางจิตเวชเพิ่มมากขึ้น ก็เรียกได้ว่าเป็นจุดสำคัญที่ทำให้เราหันมาใส่ใจกับสภาวะทางอารมณ์ของตัวเองและคนรอบข้างกันมากขึ้น นอกจากนี้ยังหาวิธีแก้ปัญหากันอย่างจริงจังอีกด้วย โดยโรคทางจิตเวชอีกอย่างหนึ่งที่เป็นปัญหามาอย่างยาวนาน แต่ไม่ค่อยได้รับความสนใจเท่าไหร่อย่างโรคซึมเศร้าหลังคลอดก็กลายมาเป็นเรื่องที่มีคนให้ความใส่ใจและคอยระมัดระวังโรคนี้กันมากขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความสูญเสียที่ไม่มีใครอยากให้เกิด
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ โรคซึมเศร้าหลังคลอด
ปกติแล้วอารมณ์ของผู้หญิงก็มีความแปรปรวนได้ง่ายอยู่แล้ว เพราะฮอร์โมนของผู้หญิงนั้นมีการเปลี่ยนแปลงในทุก ๆ เดือน โดยเฉพาะช่วงที่เป็นประจำเดือน ซึ่งการแสดงออกของแต่ละคนก็จะมีความแตกต่างกัน แต่ถ้าเกิดว่าผู้หญิงเราเกิดตั้งครรภ์ขึ้นมา อารมณ์ก็ยิ่งมีความแปรปรวนมากขึ้นกว่าเดิม เพราะระดับของฮอร์โมนมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
อาการของโรคซึมเศร้าหลังคลอดที่คุณแม่หลายคนมักจะเจอก็คืออยากร้องไห้แบบไม่มีเหตุผล มีความวิตกกังวลเกี่ยวกับการเลี้ยงลูก กลัวว่าจะเลี้ยงได้ไม่ดี ไม่สามารถดูแลลูกได้ มีความทุกข์ใจ ท้อแท้ สิ้นหวัง อารมณ์หดหู่ ไม่มีความสนใจในเรื่องที่เคยชอบ ไม่อยากทำอะไร นอนไม่หลับ ไม่สามารถจดจ่อกับอะไรนาน ๆ ได้ ในบางคนอาจจะมีความรู้สึกไม่ผูกพันกับลูก จึงทำให้ยิ่งรู้สึกแย่กับตัวเองเข้าไปอีก ซึ่งส่งผลทำให้อารมณ์ยิ่งดิ่งลงได้ง่าย
อาการเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นตั้งแต่ในช่วงแรก ๆ หลังคลอด อาจจะเป็นแค่ช่วง 1-2 สัปดาห์แรก หรือในบางรายอาจจะใช้เวลายาวนานเป็นปี ถ้ามีปัญหาอื่นร่วมด้วย เช่น สามีไม่เข้าใจ ปัญหาเรื่องการทำงาน ปัญหาการเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง ก็อาจจะทำให้ความสัมพันธ์กับคนในครอบครัวหรือคนรอบข้างแย่ตามไปด้วย จึงต้องมีการติดตามอาการของคุณแม่หลังคลอดเป็นพิเศษ เพื่อที่จะได้รักษาได้ทัน
การจะเลี้ยงเด็กให้โตขึ้นมานั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้น ความกังวลของคุณแม่หลังคลอดจึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดเป็นภาวะซึมเศร้าหลังคลอดได้ เมื่อเกิดความรู้สึกว่ายังทำได้ไม่ดีพอ ก็ยิ่งกดดันตัวเอง แถมหลังคลอดแล้ว คนที่ต้องดูแลลูกเป็นส่วนใหญ่ก็คือแม่ เพราะต้องให้นม ทำให้แทบจะต้องอยู่กับลูกตลอด 24 ชั่วโมง ส่งผลให้นอนน้อย พักผ่อนไม่เพียงพอ เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เมื่อก่อนไม่เคยรู้สึกอะไร ก็สามารถทำร้ายความรู้สึกได้ ความเครียด ความกดดันก็ยิ่งเพิ่มขึ้น จึงเป็นปัจจัยที่ทำให้สภาพอารมณ์ของคุณแม่หลังคลอดมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าได้ง่าย
ส่วนฮอร์โมนไทรอยด์ เมื่อมีการลดลงก็ยิ่งทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า ไม่อยากทำอะไรอีก จึงทำให้ผู้ป่วยยิ่งรู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า
ถ้ารู้สึกได้ว่าตัวเองเริ่มมีความรู้สึกที่ไม่ดี รู้สึกเศร้าบ่อย ๆ หรือคนรอบข้างที่สังเกตเห็นความผิดปกติได้ทัน ควรรีบทำการรักษาให้เร็วที่สุด ซึ่งวิธีการที่เห็นผลได้อย่างชัดเจนก็คือการไปปรึกษาจิตแพทย์ หมอเฉพาะทางที่จะช่วยบำบัดอารมณ์และความรู้สึกของคุณแม่ที่กำลังเผชิญหน้ากับโรคซึมเศร้าหลังคลอดให้ค่อย ๆ ดีขึ้นได้ นอกจากนี้คนในครอบครัวเองก็เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าหายได้เร็ว
วิธีการง่าย ๆ ก็คือต้องมีความใส่ใจ พยายามช่วยเหลือในเรื่องการเลี้ยงดูลูก หรือคุณแม่อาจจะออกไปลองพูดคุยกับคุณแม่มือใหม่คนอื่น ๆ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเลี้ยงลูก และยังเป็นการผ่อนคลายอีกด้วย ถ้าอาการยังคงรุนแรง อาจจะต้องรักษาด้วยการใช้จิตบำบัดโดยผู้เชี่ยวชาญ เพื่อคลายความกังวล และมีการให้ยาต้านเศร้า เพื่อช่วยปรับฮอร์โมนและความผิดปกติของร่างกาย ทำให้อาการซึมเศร้าค่อย ๆ ลดลง