โรคงูสวัด คือ โรคปลายประสาทที่เกิดจากเชื้อไวรัสวาริเซลลา ซอสเตอร์ โดยเชื้อนี้จะก่อให้เกิดโรค 2 โรค ที่เรารู้จักกันดี ก็คือ อีสุกอีใส และ งูสวัด
รู้หรือไม่ ? โรคงูสวัดและโรคอีสุกอีใส เกิดจากไวรัสชนิดเดียวกัน ถึงแม้เคยป่วยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน ก็ยังสามารถเป็นโรคสวัดได้อีกเมื่อมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง!! นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ รวมถึงการมีสภาพร่างกายที่อ่อนแอรอยโรคจะแสดงขึ้นมาที่มักจะสร้างความเจ็บปวด ทรมาน หรืออาจะสร้างรอยแผลเป็นบนผิวหนังหลังหายจากโรคแล้วก็เป็นได้
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับงูสวัด
งูสวัดคืออะไร ?
โรคงูสวัด เป็นโรคปลายประสาทที่เกิดจากเชื้อไวรัสวาริเซลลา ซอสเตอร์ (Varicella Zoster Virus หรือ VZV) โดยเชื้อนี้จะก่อให้เกิดโรค 2 โรค ที่เรารู้จักกันดี ก็คือ อีสุกอีใส และ งูสวัด เชื้อไวรัสนี้เมื่อเริ่มเข้าสู่ร่างกายทั้งจากการหายใจ หรือการสัมผัสตุ่มน้ำใสโดยตรง จะทำให้เป็นโรคอีสุกอีใส
เมื่อหายจากโรคนี้แล้ว เชื้อจะไปหลบซ่อนอยู่ในปมประสาทของร่างกาย โดยไม่มีอาการอะไรเลยเป็นเวลาหลาย ๆ ปี จนกว่าร่างกายจะอ่อนแอ เริ่มมีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ คนสูงอายุ มีความเครียดสะสม การติดเชื้อเอชไอวี (HIV) การทานยากดภูมิ โรคเบาหวาน โรคไต โรคมะเร็ง เชื้อก็จะเริ่มแบ่งตัวเพิ่มจำนวนทำให้เส้นประสาทอักเสบ เกิดการปวดตามแนวเส้นประสาท และเกิดเป็นโรคงูสวัดได้ทันที
อาการของโรคงูสวัด
อาการของโรคงูสวัด แบ่งได้เป็น 3 ระยะ ดังนี้
- เริ่มต้นผู้ป่วยจะมีอาการปวดแสบปวดร้อนบริเวณผิวหนัง เพราะภูมิต้านทานของร่างกายลดต่ำลง ทำให้เชื้อไวรัสเริ่มเพิ่มจำนวน เกิดการติดเชื้อจึงมีอาการปวดแสบปวดร้อนในระดับเส้นประสาท
- หลังจากที่ปวดแสบร้อนได้ประมาณ 2-3 วัน จะเข้าสู่ระยะที่ 2 เริ่มมีผื่นแดง ต่อมากลายเป็นตุ่มน้ำใสเต่ง ๆ (รูปร่างคล้ายหยดน้ำกลิ้งบนใบบัว) เรียงกันเป็นกลุ่ม ๆ เป็นแนวยาว ๆ ตามเส้นประสาทของร่างกาย เช่น ตามความยาวของแขน หรือรอบเอว รอบหลัง หรือศีรษะ เป็นต้น ต่อมาก็จะตกสะเก็ด และหายได้เองภายใน 2 สัปดาห์
- เมื่อตุ่มแตก และแผลหายดีแล้วจะเข้าสู่ระยะที่ 3 ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะยังมีอาการปวดแสบร้อนลึก ๆ ตามรอยแนวของโรคที่เกิดขึ้น ในบางคนอาจเกิดได้อีกเป็นเดือน หรือเป็นปี
- สำหรับผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการงูสวัดแบบหลบใน โดยผู้ป่วยจะมีอาการปวดแสบ ปวดร้อนตามแนวเส้นประสาท แต่กลับไม่มีผื่นหรือตุ่มปรากฏขึ้นมา ผู้ป่วยจึงควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยโรคเพิ่มเติม
“สำหรับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ในผู้สูงอายุ หรือในผู้ป่วยเอชไอวี (HIV) เมื่อเป็นงูสวัดแล้วโรคจะลุกลามมากกว่าปกติตุ่มใสมักกระจายออกนอกแนวเส้นประสาท อาการมักจะรุนแรงและเป็นอยู่นาน” อาจจะกระจายเข้าสู่สมองและอวัยวะภายใน เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ เพราะฉะนั้นหากสงสัยว่าป่วยเป็นโรคงูสวัดควรรีบมาพบแพทย์
ความแตกต่างระหว่างงูสวัดและโรคอีสุกอีใส
โรคงูสวัดจะมีตุ่มหรือผื่นขึ้นพาดเป็นแนวยาวตามแนวของเส้นประสาทที่ไวรัสซ่อนตัวอยู่ แต่ตุ่มอีสุกอีใสจะมีลักษณะกระจายทั่วร่างกาย พบบ่อยในเด็กอายุน้อย เป็นเพียงครั้งเดียว ไม่เป็นซ้ำอีก แต่อาจเป็นงูสวัดในอนาคตได้
ภาวะแทรกซ้อนของโรคงูสวัด
- อาการปวดตามแนวเส้นประสาทหลังเป็นโรคงูสวัด (Postherpetic neuralgia: PHN) โดยมักพบในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป โดยผู้ป่วยจะยังคงมีอาการปวดอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าผื่นของโรคงูสวัดจะหายแล้ว โดยระยะเวลาในการปวดจะขึ้นกับแต่ละบุคคล บางรายอาจปวดเป็นเดือน บางรายอาจปวดเป็นปี หรือบางรายอาจปวดตลอดชีวิตก็ได้
- ตาอักเสบ แผลที่กระจกตา หรือที่จอประสาทตาอักเสบ (Zoster Ophthalmicus, Corneal ulcer) กรณีที่งูสวัดขึ้นบริเวณผิวหนังใกล้ตา อาจรุนแรงถึงขั้นทำให้สูญเสียการมองเห็นได้ หรือในผู้ป่วยบางรายอาจพบโรครัมเซย์ ฮันต์ ซินโดรม (Ramsay Hunt syndrome) หรือภาวะใบหน้าอัมพาตครึ่งซีก จึงควรรีบปรึกษาจักษุแพทย์เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้
- ความผิดปกติทางระบบประสาท (Neurological problems) โรคงูสวัด อาจทำให้เกิดการอักเสบของระบบประสาทและสมอง ใบหน้าเป็นอัมพาต เช่น มีอาการหลับตาไม่สนิท มุมปากตก และไม่สามารถเลิกคิ้วได้ หรือหากติดเชื้อบริเวณหูด้านนอกก็อาจลุกลามไปยังแก้วหูชั้นในทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับการได้ยิน หรือการทรงตัว แต่ภาวะแทรกซ้อนนี้พบไม่บ่อยนัก
- ติดเชื้อบริเวณผิวหนัง (Bacterial infection) โรคงูสวัด อาจทำให้เกิดการติดเชื้อบริเวณผิวหนังได้ ซึ่งมักเกิดในคนไข้ที่เผลอแกะเกา หรือเอาสิ่งแปลกปลอมมาโปะ ทา บริเวณตุ่มใส จึงทำให้เป็นตุ่มหนอง และอาจเป็นแผลเป็นในที่สุด
งูสวัดพันรอบตัว ถึงตายจริงหรือ ?
หลาย ๆ ท่านคงเคยได้ยินคำว่าถ้างูสวัดพันรอบตัว รอบเอว หรือรอบคอ จะทำให้เสียชีวิตได้ ซึ่งเป็นความเชื่อที่ไม่เป็นความจริง เพราะผู้ป่วยทั่วไปที่เป็นโรคงูสวัดมักจะหายได้เองและแนวเส้นประสาทของคนจะสิ้นสุดที่กลางลำตัว ดังนั้นผู้ป่วยโรคงูสวัดจะเป็นผื่นได้แค่ครึ่งหนึ่งของลำตัวเท่านั้น
แต่สำหรับการติดเชื้องูสวัดสำหรับบางกลุ่มอาจอันตรายถึงชีวิตได้ เช่น ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ผู้ที่เป็นโรคมะเร็งหรือผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ซึ่งอาจทำให้เส้นประสาทเสียหายและเกิดภาวะติดเชื้อรุนแรง ผื่นอาจเกิดขึ้นทั้งสองข้างพร้อมกัน จึงทำให้ดูเหมือนงูสวัดพันรอบตัว หรือลุกลามไปยังอวัยวะภายในของร่างกาย ซึ่งการเสียชีวิตส่วนใหญ่จะเกิดจากอวัยวะภายในล้มเหลว ไม่ได้เสียชีวิตจากงูสวัด
วิธีการดูแลตัวเองเบื้องต้น ก่อนพบแพทย์
สำหรับผู้ป่วยงูสวัด ในระยะเริ่มต้นเป็นตุ่มน้ำใสให้รักษาแผลให้สะอาด หากตุ่มน้ำแตกต้องระวังแบคทีเรียเข้าสู่แผลอาจเกิดการติดเชื้อได้
- ควรล้างแผลด้วยน้ำเกลือสะอาด ปิดแผลด้วยผ้าก๊อซ
- หากมีอาการปวดแผลมาก สามารถทานยาแก้ปวดได้
- ไม่ควรใช้แกะเกาตุ่มงูสวัด เพราะอาจกลายเป็นตุ่มหนอง แผลหายช้า หรือเกิดแผลเป็นได้
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาสมุนไพร ยาพ่น หรือยาอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ยาที่แพทย์สั่งทาบริเวณผื่นคัน เพราะอาจทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะทำให้แผลหายช้า หรือกลายเป็นแผลเป็นไปในที่สุด
การรักษางูสวัด
- หากปรากฎผื่นของโรคงูสวัดน้อยกว่า 3 วัน แพทย์จะให้ยาต้านไวรัส (Antivirus) เช่น Acyclovir ภายใน 48-72 ชั่วโมง หลังเกิดอาการเพื่อช่วยลดการอักเสบ อาการเจ็บปวด และช่วยให้ผื่นคันยุบตัวและหายเร็วขึ้น รวมถึงช่วยลดโอกาสในการเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังจากเป็นโรคงูสวัดอีกด้วย หากผู้ป่วยมีผื่นของโรคงูสวัดเกินกว่า 3 วัน แพทย์จะพิจารณยารักษาโรคชนิดอื่น ๆ ร่วมกับยาต้านไวรัส
- สำหรับผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 50 ปี หรืองูสวัดขึ้นที่บริเวณหน้า หรือมีอาการปวดรุนแรง แพทย์จะให้ยาต้านไวรัสชนิดรับประทาน ซึ่งควรจะให้ภายใน 2 – 3 วันหลังเกิดอาการ เพื่อลดความรุนแรง และช่วยให้โรคหายเร็วขึ้น รวมทั้งช่วยลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังจากเป็นโรคงูสวัด
- สำหรับผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น เป็นโรคเอชไอวี (HIV) หรือเป็นชนิดแพร่กระจายทั้งตัว แพทย์จะให้ยาต้านไวรัสชนิดฉีดเข้าหลอดเลือดดำ และจะต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล
- สำหรับผู้ป่วยที่เป็นงูสวัดขึ้นที่บริเวณใบหน้าใกล้ตา ควรรักษากับจักษุแพทย์ ซึ่งแพทย์จะให้ยาต้านไวรัสชนิดทานและหยอดตา เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนทางตา แต่ยาที่ใช้จะไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้โดยตรง แต่จะทำให้การอักเสบสงบลง
สิ่งสำคัญที่สุดในการรักษาโรคงูสวัดคือ การตรวจเจอแต่เนิ่น ๆ และรับรักษาให้เร็วที่สุด หมั่นสังเกตอาการถ้าหากเริ่มมีอาการปวดแสบปวดร้อนและมีตุ่มพองขึ้นในบริเวณเดียวกัน ต้องรีบไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด ยิ่งตรวจพบเจอเร็วก็สามารถใช้ยาต้านทานไวรัสลดความรุนแรงของโรคและลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังจากเป็นโรคงูสวัดได้อีกด้วย
การป้องกันโรคงูสวัด
งูสวัด เป็นโรคที่พบได้ทั่วไป และสามารถเกิดขึ้นได้กับบุคคลทุกเพศ ทุกวัย การดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงและการฉีดวัคซีนป้องกัน จะช่วยลดโอกาสในการเป็นโรคงูสวัดได้ ในปัจจุบันไทยมีวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดที่มีประสิทธิภาพสามารถลดความรุนแรงของอาการงูสวัดลงได้ และลดภาวะแทรกซ้อนอาการปวดตามแนวเส้นประสาทเรื้อรังหลังการติดเชื้อได้ โดยวัคซีนแบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่
1) Live-attenuated zoster vaccine (วัคซีนที่เตรียมจากเชื้อไวรัส varicella zoster ชนิดที่ถูกทำให้อ่อนแรงลง) วัคซีนนี้ฉีดเข็มเดียว ฉีดได้ในผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป
2) Recombinant zoster vaccine (วัคซีนชนิดหน่วยย่อยรีคอมบิแนนท์) เป็นวัคซีนตัวใหม่ที่เข้าไทย ฉีดเข้ากล้ามเนื้อทั้งหมด 2 เข็ม เว้นระยะห่าง 2-6 เดือน สามารถฉีดในคนทั่วไปอายุ 50 ปีขึ้นไป คนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือได้ยากดภูมิคุ้มกันในอายุ 18 ปีขึ้นไป มีประสิทธิภาพสูงและระดับภูมิคุ้มกันอยู่นานอย่างน้อย 10 ปี
โรคงูสวัดสามารถป้องกันได้โดยการรับการฉีดวัคซีนป้องกัน การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และการหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ ซึ่งจะช่วยทำให้ภูมิคุ้มกันทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งหลีกเลี่ยงสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อด้วย