การตรวจสุขภาพคืออะไร
การตรวจสุขภาพ (Health examination) คือ การตรวจเช็คร่างกายในภาวะที่เป็นปกติ ไม่ได้มีอาการเจ็บป่วยใด ๆ เนื่องจากเป็นการตรวจเพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยง และภาวะผิดปกติ ด้วยวิธีต่างๆทางการแพทย์ เพื่อเป็นการนำไปเป็นแนวทางในการป้องกันการเกิดโรค หรือเพื่อการค้นหาโรคในระยะเริ่มแรกให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพที่สุด
รวมเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการตรวจสุขภาพ
ทำไมต้องตรวจสุขภาพ
การตรวจสุขภาพ เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม เพราะเป็นการตรวจเช็คสุขภาพ โดยเป็นการตรวจทั่วไปโดยที่ไม่ได้มีอาการผิดปกติใด ๆ ทำให้ทราบถึงปัญหาสุขภาพได้ การตรวจสุขภาพเป็นการคัดกรอง ค้นหาโรคที่อาจแผงอยู่ในร่างกายที่ไม่แสดงออกมา และเพื่อหาปัจจัยเสี่ยงที่มาจากพฤติกรรมส่วนตัวและอื่น ๆ อีกมากมายอย่างไม่คาดคิด
ประกอบกับร่างกายที่ถูกใช้งานสะสมมาเป็นเวลานาน เช่น การรับประทานอาหารที่โซเดียมสูง การรับประทานอาหารแปรรูปมากจนเกินไป จนก่อให้เกิดโรค
เราจึงควรตรวจสุขภาพรับมือกับโรคต่าง ๆ เมื่อตรวจพบอาการผิดปกติได้ไว ก็จะสามารถรักษาได้ทันท่วงที และช่วยลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด
การตรวจสุขภาพมีกี่ประเภท
การตรวจสุขภาพ มี 2 ประเภท ดังนี้
การตรวจร่างกายทั่วไป
ตรวจสุขภาพทั่วไปหรือบางคนจะเรียกว่าเป็นการตรวจสุขภาพประจำปี เป็นการตรวจด้านสุขภาพเพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยง โดยประเมินสภาพร่างกายและสมองของบุคคลนั้น ๆ เพื่อค้นหาปัญหาสุขภาพ โดยรายการที่ตรวจจะต่างกันออกไปตามเพศ อายุ ปัจจัยเสี่ยง ได้แก่
- ตรวจวัดความดันโลหิต
- การซักประวัติ และการตรวจร่างกายทั่วไป
- คำนวณหาค่าดัชนีมวลกาย (BMI)
- ตรวจหาระดับคลอเลสเตอรอล และไตรกลีเซอไรด์ ในเลือด
- การตรวจไขมันในเลือดชนิดรวม, LDL, HDL
- ตรวจระดับน้ำตาลในเลือด (FBS)
- ตรวจระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสมในเลือด (HbA1c)
- การตรวจค่าความสมบูรณ์ของเลือด (CBC)
- ตรวจการทำงานของตับจากการตรวจค่าเอนไซม์ AST, ALT และ ALP
- ตรวจไวรัสตับอักเสบ (hepatitis A, B)
- ตรวจต่อมลูกหมากทางทวารหนักเพื่อดูว่ามีขนาดใหญ่ขึ้นหรือไม่
- ตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมาก (PSA)
- ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก และมะเร็งเต้านม
- ตรวจสุขภาพฟัน และช่องปาก
- ตรวจวัดความสามารถในการมองเห็นและความดันลูกตา
- ตรวจวัดความหนาแน่นมวลกระดูก (Bone Densitometry)
การตรวจตามปัจจัยเสี่ยง
การตรวจตามปัจจัยเสี่ยงเป็นการตรวจสุขภาพในกลุ่มผู้ปฏิบัติงานที่อยู่ในสภาพแวดล้อมอันตราย เช่น งานที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีอันตราย จุลชีวันเป็นพิษที่อาจเป็นเชื้อไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา หรือสารชีวภาพอื่น กัมมันตภาพรังสี ความร้อน ความเย็น ความสั่นสะเทือน แสง เสียง ฝุ่นต่างๆ เป็นต้น
หากลักษณะงานมีการเกี่ยวข้องกับสิ่งดังกล่าว ต้องมีการจัดการให้ลูกจ้างได้รับการตรวจสุขภาพตามความเสี่ยงนั้น ๆ ด้วย โดยจะต้องมีการตรวจสุขภาพก่อนจ้างงาน ตรวจสุขภาพประจำปี และตรวจสุขภาพก่อนออกจากงาน
การตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยง ด้านอาชีวเวชศาสตร์
การตรวจสุขภาพตามปัจัยเสี่ยงทางด้านอาชีวศาสตร์ ในกรณีต่างๆ ดังนี้
- การตรวจสุขภาพก่อนจ้างงาน (Pre-employment examination) เป็นการตรวจสุขภาพก่อนที่นายจ้างจะจัดจ้างบุคคลนั้นเข้ามาทำงาน เพื่อประเมินความพร้อมเบื้องต้นก่อนเริ่มทำงาน ว่าสามารถทำงานในตำแหน่งนั้นได้หรือไม่ โดยผู้ที่เข้ารับการตรวจจะยังไม่มีสถานะเป็นลูกจ้าง
- การตรวจสุขภาพก่อนเริ่มทำงาน หรือก่อนเปลี่ยนงาน (Pre – Placement Examination) เป็นการตรวจเพื่อประเมินความพร้อมของลูกจ้าง ก่อนให้ลูกจ้างเข้าประจำตำแหน่งงาน และใช้เป็นข้อมูลในการเปรียบเทียบของผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงที่อาจสัมผัสขณะทำงาน ก่อนเข้าประจำตำแหน่ง
- การตรวจประเมินความพร้อมในการทำงาน (Fitness for Work Examination) เป็นการตรวจดูความพร้อมของร่างกายและจิตใจของคนทำงาน ว่าหลังจากเข้าไปทำงานที่มีความเสี่ยงแล้วมีสุขภาพดีหรือไม่ ทำงานอย่างปลอดภัยหรือไม่ หากประเมินแล้วพบว่าไม่สามารถทำงานตามตำแหน่งนั้นได้ ต้องให้งดตำแหน่งงานนั้นหรือหาตำแหน่งอื่นที่เหมาะสมให้แทน
- การตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยงประจำปี (Periodic Examination) เป็นการตรวจสุขภาพเพื่อเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย และจิตใจตามปัจจัยเสี่ยงที่เกิดจากการทำงาน โดยตรวจทุก 1 ปี และตรวจแยกตามปัจจัยเสี่ยงจากตำแหน่งงานต่าง ๆ เช่น ผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสารเคมี ด้านความสั่นสะเทือน ด้านเสียง เป็นต้น
- การตรวจสุขภาพก่อนกลับเข้าทำงาน (Return to Work Examination) เป็นการตรวจสุขภาพเพื่อดูสภาวะสุขภาพของลูกจ้าง ต่อตำแหน่งงานที่ทำ ก่อนจะกลับเข้ามาทำงาน เช่น การตรวจหลังลูกจ้างประสบอุบัติเหตุที่ต้องหยุดงานไปรักษาตัวเป็นเวลานาน หรือการหยุดงานเพื่อลาคลอด หากตรวจประเมินแล้วลูกจ้างยังไม่พร้อมที่จะกลับมาทำงานควรต้องงดการทำงานนั้นไว้ก่อน
- การตรวจสุขภาพก่อนเกษียณ (Retirement Examination) เป็นการตรวจเมื่อลูกจ้างจะเกษียณจากงาน หรือตรวจก่อนจะลาออกจากงานเดิมที่ทำโดยที่ยังไม่ถึงอายุที่จะเกษียณ เพื่อดูว่าหลังจากทำงานเป็นเวลานานสุขภาพร่างกายของผู้ที่ทำงานยังแข็งแรงดี หรือมีการเสื่อมใดที่เกิดจากการทำงานนั้นหรือไม่
วัตถุประสงค์การตรวจสุขภาพ
เพื่อให้ทราบถึงสุขภาวะ และความสมบูรณ์ของร่างกายของผู้เข้ารับการตรวจ ดังนี้
- เพื่อประเมินความเหมาะสมในการทำงานของลูกจ้างที่กำลังจะเข้ามาทำงาน ว่ามีสุขภาพร่างกายที่เหมาะสมกับการทำงานในตำแหน่งนั้น ๆ หรือไม่
- เพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยง ภาวะผิดปกติ เพื่อช่วยลดความเสี่ยง และหาแนวทางในการป้องกันการเกิดโรค หรือหากพบโรคตั้งแต่ระยะเริ่มต้น จะได้หาแนวทางรักษาได้อย่างทันท่วงทีและเข้ารับการรักษาด้วยวิธีที่มีประสิทธภาพที่สุด
- เพื่อเป็นแนวทางในการส่งเสริมสุขภาพ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพไปให้ในทางที่ดีขึ้น เหมาะสมกับการทำงาน และการใช้ชีวิตประจำวัน
- เพื่อเก็บเป็นข้อมูลในการใช้เปรียบเทียบขั้นพื้นฐาน สำหรับการเฝ้าระวังด้านสุขภาพ ภาวะร่างกายเสื่อมสภาพจากปัจจัยเสี่ยงที่เกิดจากการทำงาน เช่น เปรียบเทียบโรคที่เกิดจากการสัมผัสสารเคมีขณะทำงาน การเสื่อมสภาพของระบบทางเดินหายใจและปอด เป็นต้น
ควรเริ่มตรวจสุขภาพตั้งแต่เมื่อไหร่
การตรวจสุขภาพจะแตกต่างไปตาม เพศ ปัจจัยเสี่ยง และช่วงวัย โดยหลักการตรวจสุขภาพจะแยกออกไปตามช่วงวัย ดังนี้
- เด็กแรกเกิด จนถึงวัยรุ่นไม่เกิน 20 ปี จะตรวจสุขภาพตามมาตรฐาน (BMI) พัฒนาการด้านต่างๆตามช่วงอายุ การตรวจสุขภาพช่องปาก สายตาและการมองเห็น รวมไปถึงเข้ารับการฉีดวัคซีนชนิดต่าง ๆ ตามช่วงอายุ
- วัยรุ่นตอนปลาย จนถึงผู้ใหญ่ตอนต้น อายุ 20-30 ปี จะเริ่มมีการตรวจสุขภาพพื้นฐานประจำปี เพราะรอยโรคบางโรคยังไม่ปรากฏตอนวัยเด็ก และบางโรคที่เกิดจากพันธุกรรมอาจปรากฎได้ในระยะเริ่มต้น
- กลุ่มผู้ใหญ่ อายุ 30-40 ปี จะมีการตรวจสุขภาพพื้นฐานอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยตรวจครบทุกด้าน
- กลุ่มอายุ 40-50 ปี จะต้องมีการตรวจเพิ่มเติมอย่างละเอียดจากเดิม เช่น ตรวจคัดกรองมะเร็ง ตรวจฮอร์โมน การทำงานของปอด ภาวะไขมันพอกตับ ตรวจการทำงานหัวใจให้ละเอียดขึ้น
- กลุ่มอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป จะมีการตรวจเพิ่มเติมจากเดิมโดยเน้นไปทางการค้นหาโรคแฝง เช่น โรคเกี่ยวกับหลอดเลือด มะเร็ง
- กลุ่มผู้สูงอายุ วัย 60 ปีขึ้นไป จะมีการตรวจทั่วไป BMI ความดันโลหิต และสุขภาพตา เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุ
สรุป
การเจ็บป่วยเป็นเรื่องที่เราไม่สามารถจะคาดเดาได้ล่วงหน้า ว่าจะเกิดอาการป่วยอะไรขึ้นกับเรา และจะแสดงอาการป่วยออกมาเมื่อใด แต่เราสามารถตรวจเช็คความผิดปกติของร่างกาย เพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดการเจ็บป่วย หรือภาวะผิดปกติก่อนการเกิดอาการป่วย เพื่อยังช่วยลดกระทบจากการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดได้
ดังนั้นจึงควรมองเห็นถึงความสำคัญ และไม่ควรมองข้ามการตรวจสุขภาพ