ปัญหา คนแก่นอนไม่หลับ ตื่นกลางดึก หรือนอนหลับแล้วตื่นเช้ามากเกินไป เป็นปัญหาที่พบบ่อยและเป็นปัญหาเรื้อรังในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือผู้ป่วยติดเตียง ซึ่งการที่ผู้สูงอายุนอนไม่หลับเกิดได้จากหลายสาเหตุ
เมื่อนอนไม่หลับบ่อย ๆ จะทำให้ส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิตใจด้วย ซึ่งอาการนอนไม่หลับเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งความเครียด ฮอร์โมนที่เปลี่ยนไป และยังอาจเป็นสาเหตุของโรคทางสมองด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้นมาความรู้จักเกี่ยวกับปัญหานอนไม่หลับกันให้มากขึ้น เพื่อรับมือกับผู้สูงอายุในครอบครัวและวิธีแก้ปัญหากันดีกว่า
รวมทุกเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับคนแก่นอนไม่หลับ
สาเหตุการนอนไม่หลับของผู้สูงอายุ
เกิดความเปลี่ยนแปลงจากร่างกายเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น
เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้นสภาพร่างกายก็จะค่อยๆ เสื่อมลง เช่นเดียวกับสมองที่เสื่อมสภาพลงเช่นกัน ซึ่งอาจส่งผลให้การนอนเปลี่ยนแปลงไปคือ
- ระยะเวลาการนอนกลางคืนจะลดลง
- ใช้เวลานานขึ้นเพื่อที่จะหลับ
- มีการตื่นกลางดึกบ่อยขึ้น
- ตื่นเช้ากว่าที่ควรจะเป็น
หากผู้สูงอายุไม่มีอาการหาวง่วงนอนในกลางวัน ก็ถือว่าผู้สูงอายุได้นอนหลับเต็มที่ตามที่ร่างกายต้องการแล้ว แต่หากมีอาการง่วงนอนต้องหาสาเหตุอื่นเพิ่มเติมด้วย
เกิดจากโรคประจำตัว
โรคบางอย่างอาจกระทบกับการนอนได้อย่าง โรคเบาหวาน จะทำให้ปัสสาวะบ่อยและปริมาณปัสสาวะมาก โรคต่อมลูกหมากโต ที่จะต้องตื่นปัสสาวะดึกๆ ทำให้นอนหลับสนิทยาก หรือบางคนอาจเกิดจากโรคกระดูกและข้อเสื่อม เช่น มีอาการปวดข้อ ปวดกระดูก นอกจากนี้ยังมีอาการเจ็บปวดที่เกิดจากอวัยวะภายในช่องท้อง เช่น ท้องผูก แน่นท้อง อาหารไม่ย่อย กรดไหลย้อน ทำให้ต้องตื่นขึ้นมากลางดึก และการเป็นผู้ป่วยติดเตียง หรือมีแผลกดทับจากการนอนนานๆ
ยาบางประเภท
ผู้สูงอายุอาจจะต้องรับประทานยารักษาโรคหลายประเภท ซึ่งบางประเภทอาจออกฤทธิ์ในระบบประสาทส่วนกลางหรือสมอง ทำให้ผู้สูงอายุมีอาการนอนไม่หลับอยู่บ่อยๆ เช่น การใช้ยานอนหลับนานๆ ยารักษาอาการสั่นเคลื่อนไหวช้าในโรคพาร์กินสัน ยารักษาโรคซึมเศร้า ยาเสตียรอยด์ หรือบางครั้งอาจเป็นส่วนผสมของยาบางชนิดเช่น alcohol ในพวกยาน้ำแก้ไอ หรือ caffeine ที่ผสมในยารักษาโรคหวัด เป็นต้น
ปัญหาสุขภาพจิต
เมื่ออายุเพิ่มขึ้นหลายคนมักเจอกับปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิต เช่น รู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า รู้สึกหมดหวัง มีความเครียด ความกังวลสะสม รู้สึกเศร้า และคิดมาก รวมไปถึงภาวะซึมเศร้า ก็เป็นสาเหตุของการนอนไม่หลับและตื่นขึ้นแล้วไม่สามารถนอนต่อได้อีก
ความผิดปกติที่เกิดในช่วงของการนอน
ผู้ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ อาการนอนกรน ภาวะการละเมอ อาการขาอยู่ไม่สุขมีความผิดปกติของการเคลื่อนไหวแขนขาเป็นระยะๆ ส่งผลให้ระยะการนอนหลับสนิทลดลง
โรคทางสมอง
ผู้สูงอายุที่เริ่มมีปัญหาสมองเสื่อมในระยะแรกจะมีอาการนอนไม่หลับ เพิ่มจากอาการขี้หลงขี้ลืม ถามซ้ำๆ จำเหตุการณ์บางอย่างไม่ได้ หรือมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป
พฤติกรรมการใช้ชีวิต และสิ่งแวดล้อม
พฤติกรรมบางอย่างอาจส่งผลต่อการนอนได้เช่นกัน อย่างการงีบหลับในช่วงกลางวัน เนื่องจากไม่มีกิจกรรมให้ทำ การเข้านอนเร็วเกินไป การนอนบนเตียงแต่เล่นโทรศัพท์ ดูทีวี การขาดการออกกำลังกาย รวมถึงการดื่มชา กาแฟ น้ำอัดลมที่มีส่วนผสมของคาเฟอีนก่อนนอน นอกจากนี้ยังมีสิ่งแวดล้อมที่อาจรบกวนได้อย่าง มีเสียงรบกวน มีแสงสว่างมากเกินไป อุณหภูมิเย็น/ร้อน เตียงที่ทำให้นอนไม่สบาย อากาศถ่ายเทไม่สะดวก
อาการแบบไหนที่ควรพบแพทย์
หมั่นสังเกตุอาการและพฤติกรรมของผู้สุงอายุหากผู้สูงอายุมีอาการนอนไม่หลับบ่อยๆ จนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันประมาณ 1 สัปดาห์ ให้รีบมาปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุและวิธีการรักษาเพราะปัญหาการนอนไม่หลับอาจส่งผลถึงร่างกายและจิตใจของผู้สูงอายุได้
ผู้สูงอายุควรนอนวันละกี่ชั่วโมง
การนอนหลับถือเป็นการพักผ่อนที่สำคัญอย่างหนึ่งทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ผู้สูงอายุควรนอนหลับพักผ่อนวันละ 8 ชั่วโมง หากผู้สูงอายุนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม ควรรีบหาสาเหตุเพื่อป้องกันการเกิดโรคภัยไข้เจ็บและความสูญเสีย
ผลกระทบของการนอนไม่หลับในผู้สูงอายุ
ผู้สูงอายุที่นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอจะทำให้มีปัญหาสุขภาพตามมาและอาจส่งผลต่อสุขภาพจิตด้วย เพราะส่งผลให้เกิดความเครียด อาการอ่อนเพลียระหว่างวัน หงุดหงิดง่าย ไม่มีพลังในการทำกิจกรรมต่างๆ อีกทั้งทำให้ความสามารถในการจดจำแย่ลง เพิ่มความเสี่ยงให้มีโรคภัยไข้เจ็บของผู้สูงอายุและอาการพลัดตกหกล้มได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
วิธีการแก้ปัญหาอาการนอนไม่หลับในผู้สูงอายุ
ผู้สูงอายุที่เริ่มประสบปัญหาการนอนไม่หลับ ควรเริ่มด้วยการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตก่อน หากยังไม่ดีขึ้นควรมาพบแพทย์เพื่อพิจารณาทางเลือกอื่นในการรักษาอย่างเช่นการรับประทานยา สำหรับพฤติกรรมเริ่มทำได้ง่ายๆ ดังนี้
- ฝึกเข้านอนและตื่นนอนให้เป็นเวลา พยายามหลีกเลี่ยงการนอนกลางวัน หรือจำกัดเวลาการนอนกลางวัน ไม่ควรเกินครึ่งชั่วโมงในช่วงบ่าย
- หลีกเลี่ยงการดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ , เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น กาแฟ โดยเฉพาะเวลาเย็น
- ไม่ควรดื่มน้ำในช่วงเวลา 4-5 ชั่วโมงก่อนที่จะถึงเวลาเข้านอน ถ้ามีปัญหาปัสสาวะเวลากลางคืนบ่อยๆ
- หากิจกรรมที่ทำให้ร่างกายได้เคลื่อนไหวในช่วงเวลากลางวัน หรือการออกกำลังกาย แต่ควรห่างจากเวลานอน 4-5 ชั่วโมง
- รับประทานกล้วยหอม อัลมอน ข้าวโอ้ต น้ำผึ้งในปริมาณไม่มาก ก่อนเข้านอน จะช่วยให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น
- พยายามจัดสิ่งแวดล้อมภายในห้องนอนให้เงียบ และมืดพอสมควร ไม่ร้อน หรือหนาวเกินไป
- ฝึกการทำสมาธิ เพื่อให้จิตใจสงบ
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ โดยเฉพาะในตอนเย็น เนื่องจากนิโคตินทำหน้าที่เป็นตัวกระตุ้นและรบกวนการนอนหลับ
- ไม่ใช้ยานอนหลับทุกประเภทที่ซื้อมารับประทานเอง หรือยาแก้แพ้ แก้เมา ที่มีฤทธิ์ทำให้ง่วง เพราะยาอาจทำให้ส่งผลเสียต่อสมองทำให้เกิดอาการสับสน มึนงง ความจำถดถอย และเดินเซและล้มได้
ปัญหาการนอนไม่หลับของผู้สูงอายุอาจมาได้จากหลายสาเหตุทั้งความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ความเครียด โรคประจำตัว หรือแม้แต่พฤติกรรมบางอย่าง ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้อาจกลายเป็นเรื้อรังและส่งผลต่อร่างกายและจิตใจของผู้สูงอายุได้ หมั่นสังเกตุการนอนและอารมณ์ของผู้สูงอายุหากเริ่มมีปัญหานอนไม่หลับลองปรับพฤติกรรมและสภาพแวดล้อมแล้วยังไม่ได้ผล จนเริ่มส่งผลต่อชีวิตประจำวัน ควรพาผู้สูงอายุมาพบแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุอย่างละเอียดและรับการรักษาที่เหมาะสมที่สุด ไม่ควรซื้อยามารับประทานเองเพราะอาจส่งผลต่อสมองจนอาการแย่ลงได้