ช่วงที่มีฝนตกชุกอากาศเย็น ทำให้เชื้อโรคเจริญเติบโตได้ดี โดยเฉพาะเชื้อโนโรไวรัส และโรต้าไวรัส เชื้อที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดอากาท้องเสียรุนแรง แม้โรคท้องเสียจะดูเป็นเรื่องใกล้ตัวที่มีโอกาศเกิดขึ้นได้บ่อย และสามารถหายได้เองโดยที่ไม่ต้องไปพบแพทย์ แต่รู้หรือไม่หากถ่ายเป็นน้ำอย่างรุนแรง อาจเกิดภาวะช็อกจนเสียชีวิตจากการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ได้ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัวที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ
โรคท้องเสีย คืออะไร เกิดจากอะไร
โรคท้องเสีย (Diarrhea) เป็นโรคที่เกิดจากการรับประทานอาหารและน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส พยาธิ สารพิษและสารเคมีเข้าไปจนทำให้มีอาการถ่ายเหลวตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไปภายใน 24 ชั่วโมง หรือถ่ายมีเลือดปน ถ่ายมีมูกเลือดมากกว่า 1 ครั้ง และมักมีอาการปวดบิด เสียดท้อง ท้องอืด คลื่นไส้ อาเจียนหรืออาจมีไข้ร่วมด้วย โดยปกติอาการเหล่านี้มักจะหายไปได้เองภายใน 2-3 วัน ซึ่งถ้าหากมีอาการท้องเสียรุนแรงอาจทำให้ร่างกายขาดน้ำจนอาจอันตรายถึงชีวิตได้ควรรีบมาพบแพทย์โดยเร็วที่สุด
โรคท้องเสียแบ่งเป็นกี่ประเภท
โรคท้องเสียแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ตามระยะเวลาที่มีอาการ
1. ท้องเสียแบบเฉียบพลัน (Acute diarrhea)
เป็นอาการท้องเสียทั่วไปที่สามารถเกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน เกิดจากการติดเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย หรือพยาธิ จากการกินน้ำและอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อเหล่านี้เข้าไป และอาจเกิดจากผลข้างเคียงของยาบางชนิดได้เช่นกัน เช่น ยาปฏิชีวนะ ยารักษาหัวใจเต้นผิดปกติ ยาลดความดัน ยาระบาย เป็นต้น ซึ่งอาการท้องเสียประเภทนี้จะมีอาการประมาณ 1-3 วัน จากนั้นจะค่อยๆ ทุเลาลง และหายไปได้เอง แต่สำหรับผู้ป่วยบางรายหากมีอาการท้องเสียรุนแรงอาจจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยาฆ่าเชื้อหรือยาปฎิชีวนะ
2. ท้องเสียแบบต่อเนื่อง (Persistent diarrhea)
เป็นอาการท้องเสียแบบต่อเนื่องประมาณ 2-4 สัปดาห์ อาจเกิดจากลำไส้ไวต่อสิ่งกระตุ้นหลังกินอาหารบางอย่าง (เช่น นม ของเผ็ด น้ำส้มสายชู เหล้า กาแฟ) ก็จะทำให้ท้องเสียได้ หากอาการถ่ายเป็นๆ หายๆ ต่อเนื่องกัน ไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกโรคร้ายบางชนิดอยู่ ควรรีบมาปรึกษาแพทย์ ผู้ป่วยไม่ควรนิ่งนอนใจ เนื่องจาก อาจเป็นสัญญาณเริ่มต้นของโรคร้าย ควรปรึกษาแพทย์เพื่อป้องกันไม่ให้อาการท้องเสียรุนแรง และได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
3.ท้องเสียแบบเรื้อรัง (Chronic diarrhea)
เป็นอาการท้องเสียต่อเนื่องตั้งแต่ 4 สัปดาห์ขึ้นไป หรือมีอาการท้องเสียเป็นๆ หายๆ ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุเช่น จากความเครียด, การติดเชื้อ บิด อะมีบา, การมีโรคเรื้อรัง เบาหวาน ไทรอยด์เป็นพิษ, ขาดเอนไซม์ในการย่อยแลคโตส ที่พบอยู่ในนม, ความผิดปกติของการดูดซึมลำไส้, เนื้องอก มะเร็งของลำไส้หรือตับอ่อน หากผู้ป่วยมีอาการท้องเสียติดต่อกันหลายวันไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
ท้องเสีย อาการเป็นอย่างไร
เมื่อท้องเสีย อาการโดยทั่วไปที่อาจพบได้ มีดังนี้
- ปวดท้อง ปวดบิด หรือปวดเกร็งท้อง
- ถ่ายอุจจาระเหลวเป็นน้ำ หรือเป็นน้ำปนเนื้อ
- ถ่ายบ่อย ถ่ายอุจจาระไม่สุด (มากกว่า 3 ครั้ง ภายใน 24 ชั่วโมง)
- คลื่นไส้ อาเจียน
- บางรายอาจมีไข้
- แน่นท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ
- ถ่ายเป็นเลือด หรือ ถ่ายเป็นมูกปนออกมากับอุจจาระ
- บางรายที่ถ่ายอุจจาระบ่อยๆ จะทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำมาก อาจรู้สึกหน้ามืดเป็นลม หรือช็อกหมดสติ
ภาวะแทรกซ้อนจากอาการท้องเสีย
- ภาวะขาดน้ำ (Dehydration) คือภาวะที่ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่มากเกินไป อาการไม่รุนแรงที่พบได้คือ คอแห้ง เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย ปัสสาวะสีเข้ม แต่สำหรับคนที่มีอาการรุนแรงจนอาจพบอาการซึม กระสับกระสาย ปัสสาวะออกน้อย ตาและหน้าท้องยุบผิดปกติ จนถึงมีอาการช็อก ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตหากไม่ได้รับการรักษา โดยเฉพาะในเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
- ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด (Sepsis) เกิดจากเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่กระแสเลือด อาจพบอาการไข้สูง หนาวสั่น และอาจช็อก ถึงขั้นเสียชีวิตได้ จึงควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษาโดยเร่งด่วน
- ไตทำงานผิดปกติ ซึ่งเกิดจากการสูญเสียน้ำและเกลือมากอย่างมาก
- การติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิด อาจทำให้มีการติดเชื้อรุนแรง เกิดเม็ดเลือดแดงแตก เกร็ดเลือดต่ำ และเกิดไตวายเฉียบพลันได้
ท้องเสียกินอะไรได้บ้าง
หากมีอาการท้องเสียไม่ว่าจะท้องเสียฉับพลันหรือท้องเสียแบบเรื้อรัง ควรเลือกรับประทานอาหารดังนี้
- อาหารอ่อนๆ ที่สะอาด ย่อยง่าย ปรุงสุก เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม ซุปเต้าหู้ เนื้อปลา แกงจืด
- ดื่มน้ำเกลือแร่ (ORS) บ่อยๆ เพื่อทดแทนการสูญเสียน้ำและเกลือแร่
- งดอาหารรสจัด อาหารมันจัด ของหมักดองต่างๆ เช่น ปลาร้า หอยดอง กุ้งดอง ผักดอง
- งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- งดผักและผลไม้ รวมถึงอาหารร้อรจัดและเย็นจัด
- หลีกเลี่ยงอาหารสุกๆ ดิบๆ เน้นการรับประทานอาหารที่ปรุงสุก ถูกสุขลักษณะ
ท้องเสีย vs อาหารเป็นพิษ
ท้องเสียอาจเกิดจากอาหารเป็นพิษได้ จากการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มไม่สะอาด ไม่สดหรืออาหารค้างคืนที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียเข้าไปทำให้มีอาการคลื่นไส้อาเจียน ปวดท้องและท้องเสียถ่ายเหลว
ท้องเสียแบบไหนอันตราย
หากมีอาการท้องเสียเกิน 3 วันแล้วอาการท้องเสียไม่ดีขึ้น มีไข้สูงมากกว่า 38.5 องศาเซลเซียส ผู้ป่วยมีอาการขาดน้ำ รู้สึกอ่อนเพลีย ริมฝีปากแห้ง เวียนศีรษะ เหงื่อแตก ใจสั่น หน้ามืดจะเป็นลม หรือมีเลือดปนในอุจจาระ ควรรีบมาพบแพทย์ทันทีเพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง
ยาที่ควรรับประทานเมื่อมีอาการท้องเสีย
- ยาคาร์บอน (Activated Carbon) เป็นยาที่ใช้เพื่อดูดซับสารพิษหรือเชื้อแบคทีเรียเพื่อบรรเทาอาการท้องเสีย ตัวยาไม่ได้มีผลในการฆ่าเชื้อโรคที่ทำให้เกิดอาการท้องเสีย และไม่สามารถใช้เป็นยาหยุดถ่ายได้
- เกลือแร่สำหรับคนท้องเสีย (Oral Rehydration Salt – ORS) บ่อยๆ เพื่อทดแทนการสูญเสียน้ำและเกลือแร่
- ยาแก้ปวดท้อง
- ยาช่วยหยุดถ่าย สามารถทานได้ในผู้ที่มีถ่ายเหลวเป็นน้ำ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาทุกครั้ง
- ยาฆ่าเชื้อท้องเสีย หรือยาปฏิชีวนะ เพื่อกำจัดเชื้อแบคทีเรีย หรือปรสิต อันเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการท้องเสีย ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาทุกครั้ง
“โรคท้องเสีย” นับว่าเป็นโรคที่แทบทุกคนจะต้องเคยเป็น ซึ่งโดยปกติแล้วอาการท้องเสียก็จะค่อยๆ ดีขึ้นและหายไปได้เอง แต่ในบางครั้งก็มีอาการติดต่อกันหลายวัน เป็นๆ หายๆ และจำเป็นต้องได้รับการรักษาเพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนโรคร้ายบางชนิดอยู่ โรคนี้แม้จะดูไม่น่ากลัวแต่สำหรับผู้ป่วย เด็ก หรือผู้สูงอายุอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้จากร่างกายขาดน้ำ เพราะฉะนั้นหากมีอาการท้องเสียและไม่มีขึ้นภายใน 2-3 วัน หรือมีอาการแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น ไข้สูง หนาวสั่น ถ่ายมีมูกหรือเลือดปน เวียนศีรษะจะเป็นลม แนะนำให้รีบมาพบแพทย์เพื่อจะได้รักษาอย่างทันท่วงที