ความดันเป็นสิ่งที่สามารถบ่งบอกอาการเสี่ยงโรคต่างๆได้ ไม่ว่า ความดันสูง หรือ ความดันต่ำ ซึ่งสองแบบนี้มีอาการ สาเหตุ และการรักษาที่ต่างกัน โดยมีค่าปกติที่เหมาะสมไม่ควรเกิน 120/80 ม.ม.ปรอท (mm/Hg)
ภัยเงียบที่ใครหลายคนกำลังมองข้าม เป็นปัญหาสุขภาพที่มีโอกาสเสี่ยงที่เป็นปัจจัยนำไปสู่โรคอื่น ๆ ได้หลายโรค เนื่องจากการเจ็บป่วยเป็นเรื่องที่เราไม่สามารถจะคาดเดาได้ล่วงหน้า ว่าจะเกิดอาการป่วยอะไรขึ้นกับเรา และจะแสดงอาการป่วยออกมาเมื่อใด
แต่เราสามารถหมั่นตรวจเช็คได้ เพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดการเจ็บป่วย หรือภาวะผิดของอาการป่วย ด้วยการตรวจขั้นพื้นฐานอย่าง การตรวจความดันโลหิต และยังเพื่อเป็นการหาปัจจัยเสี่ยงที่มาจากพฤติกรรมส่วนตัวและอื่น ๆ อีกมากมายอย่างไม่คาดคิด เช่น การรับประทานอาหารที่โซเดียมสูง การรับประทานอาหารแปรรูปมากจนเกินไป จนก่อให้เกิดโรค
เมื่อตรวจพบอาการผิดปกติได้ไว ก็จะสามารถรักษาได้ทันท่วงที และช่วยลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ดังนั้นจึงอยากให้ทุกคนได้มาทำความรู้จักกับ ความดัน สาเหตุของโรคร้ายที่มาอย่างไม่คาดคิด การตรวจความดันจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม หลาย ๆ คนยังไม่เคยได้รับการตรวจที่บ่อยนักทำให้ไม่ทราบถึงความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดโรคร้ายตามมา
รวมทุกเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับความดัน
- ค่าตัวเลขความดันโลหิตคืออะไร ?
- ระดับความดันโลหิตปกติควรอยู่ที่เท่าไร?
- ความดันโลหิตต่ำ คืออะไร
- สาเหตุของการเกิดภาวะความดันต่ำ
- อาการของความดันโลหิตต่ำ
- ภาวะแทรกซ้อน
- การรักษาภาวะความดันโลหิตต่ำ
- ความดันโลหิตสูง คืออะไร
- สาเหตุของการเกิดภาวะความดันโลหิตสูง
- อาการของความดันโลหิตสูง
- ภาวะแทรกซ้อน
- การรักษาภาวะความดันโลหิตสูง
- การเตรียมตัวเพื่อวัดความดันโลหิต
- การป้องกันและดูแลตนเอง
- สรุปความดันสูง ความดันต่ำ
ค่าตัวเลขความดันโลหิตคืออะไร ?
ค่าความดัน คือ แรงดันในหลอดเลือดช่วงหัวใจบีบตัว และคลายตัว โดยสามารถแบ่งออกเป็น 2 ค่า คือ
- ความดันตัวบน หรือความดันซิสโตลี (Systolic blood pressure) คือ แรงดันในหลอดเลือดที่สูงขึ้น ในขณะที่หัวใจบีบตัว ซึ่งค่าความดันจะสูงต่ำ ตามช่วงอายุ การเคลื่อนไหวของร่างกาย และการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ขณะนั้น
- ความดันช่วงล่าง หรือความดันไดแอสโตลี (Diastolic blood pressure) คือ แรงดันที่เกิดจากการยืดหยุ่นของหลอดเลือด ในขณะที่หัวใจคลายตัว
โดยมีระดับค่าความดันโลหิต ตามตารางแสดงค่าความดันโลหิต ดังนี้
ระดับความดันโลหิต | ความดันช่วงบน (มม.ปรอท) | ความดันช่วงล่าง (มม.ปรอท) |
ความดันโลหิตปกติ | < 120 | < 80 |
ความดันโลหิตปกติที่ค่อนไปทางสูง | 120-139 | < 80 |
ความดันโลหิตสูงระดับที่ 1 | 140-159 | 80-89 |
ความดันโหลิตสูงระดับที่ 2 | 160-179 | ≥ 90 |
ความดันโหลิตสูงระดับที่ 3 | ≥ 180 | ≥ 109 |
ระดับความดันโลหิตปกติควรอยู่ที่เท่าไร?
โดยทั่วไปความดันโลหิตมีค่าปกติที่เหมาะสม จะต้องวัดขณะที่นั่งพักแล้วอย่างน้อย 15-30 นาที หรือวัดหลังรับประทานอาหาร ดื่มกาแฟ ออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ มาแล้วอย่างน้อย 1 ชั่วโมง โดยมีค่าปกติที่เหมาะสมไม่ควรเกิน 120/80 ม.ม.ปรอท (mm/Hg) หากวัดแล้วมีค่าที่สูงกว่าปกติให้ทิ้งระยะห่างจากนั้นวัดซ้ำอีกครั้ง

ความดันโลหิตต่ำ คืออะไร
ภาวะความดันโลหิตต่ำ (Hypotension) คือ ภาวะที่มีค่าความดันโลหิตต่ำกว่า 90/60 ม.ม.ปรอท (mm/Hg) ซึ่งถือเป็นอีกภาวะสำคัญที่ควรต้องระวัง สามารถพบได้ในผู้หญิงอายุน้อย ผู้ที่มีน้ำหนักตัวน้อย โดยความต่ำไม่ได้นับว่าเป็นโรค และไม่ได้นำไปสู่โรคเรื้อรัง แต่ยังคงไม่อาจมองข้ามได้เช่นกัน
โดยกลุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดภาวะความดันต่ำ คือ ผู้ป่วยสูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง หญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคไต โรคเบาหวาน รวมไปถึงผู้ที่มีภาวะเจ็บป่วยเฉียบพลัน เช่น มีประวัติท้องร่วง เสียเหงื่อจากการออกกำลังกาย การับประทานยาเกิดขนาด โดยภาวะความดันต่ำสามารถแยกเป็นปะเภท ได้ดังนี้
- ภาวะความดันโลหิตต่ำกะทันหัน จากการเปลี่ยนแปลงท่าทางอิริยาบถกะทันหัน
- ภาวะความดันโลหิตต่ำหลังรับประทานอาหารมื้อใหญ่
- ภาวะความดันโลหิตต่ำจากความผิดปกติของสมอง
- ภาวะความดันโลหิตต่ำเนื่องจากความเสียหายของระบบประสาท
สาเหตุของการเกิดภาวะความดันต่ำ
สาเหตุของภาวะความดันต่ำโดยส่วนใหญ่ เกิดจากการที่มีเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอด้วยสาเหตุต่าง ๆ ดังนี้
- หัวใจเต้นผิดปกติ ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ
- การรับประทานยาบางชนิด
- ระดับความเครียด
- ท่าทางและการจัดตำแหน่งของร่างกาย
โดยยังอาจมีปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วยที่ทำให้ความดันโลหิตลดต่ำลง เช่น
- การตั้งครรภ์
- ภาวะขาดน้ำ
- การสูญเสียเลือด
- ขาดสารอาหาร
- ปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ
อาการของความดันโลหิตต่ำ
ในผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตต่ำ (Hypotension) อาจมีอาการดังนี้
- วิงเวียนศีรษะ
- อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
- คลื่นไส้
- ตาพร่า มองเห็นภาพไม่ชัด
- ขาดสมาธิ
- มองเห็นภาพซ้อน
ภาวะแทรกซ้อน
ภาวะความดันโลหิตต่ำ อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากความดันโลหิตต่ำ อาจนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุและยังอาจช็อกขึ้นได้หากมีอาการในระดับที่รุนแรงขึ้น รวมไปถึงการทำให้ร่างกายขาดออกซิเจน จนทำให้หัวใจ สมอง อวัยวะอื่น ๆ ขาดออกซิเจน และนำไปสู่การเสียชีวิตในที่สุด เช่น
- ชีพจรเต้นเร็วจนผิดปกติ
- อ่อนแรง
- ป็นลม
- ผิวเย็น ชื้น และซีด
- หายใจเร็ว และถี่ขึ้น
การรักษาภาวะความดันโลหิตต่ำ
ในปัจจุบันการรักษาภาวะความดันโลหิตต่ำสามารถใช้วิธีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้ยารักษา ดังนี้
- การออกกำลังกายเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อช่วยให้หลอดเลือดหัวใจแข็งแรงขึ้น
- นอนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอวันละ 7-8 ชั่วมโมง และหลีกเลี่ยงการใช้หมอนที่ต่ำหนุนศรีษะ
- การรับประทานอาหารที่มีมีประโยชน์ สารอาหารครบถ้วนทั้ง 5 หมู่ ให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
- หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนอิริยาบถแบบรวดเร็ว เช่น การลุกขึ้นจากพื้นด้วยความไวจากท่านอนมาเป็นท่านั่ง เป็นการเปลี่ยนท่าทางต้านกับแรงโน้มถ่วงทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้นเพื่อบีบเลือดส่งไปยังสมอง ในบางครั้งจึงทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ

ความดันโลหิตสูง คืออะไร
ความดันโลหิตสูง (Hypertension) คือ ภาวะที่พว่ามีค่าระดับความดันโลหิตอยู่ในระดับสูงผิดปกติ เป็นโรคที่สำคัญมาก โดยมีค่ามากกว่าหรือเท่ากับ 140/90 ม.ม.ปรอท (mm/Hg) ขึ้นไป โดยส่วนมากมักจะไม่มีอาการที่ชัดเจน แต่ในผู้ที่มีความดันโลหิตสูงเป็นระยะเวลานานอาจก่อให้เกิดการทำลายอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกายได้แก่ ตา ไต สมอง หัวใจ และหลอดเลือดจนทำให้เกิดอาการแสดงขึ้นได้
สาเหตุของการเกิดภาวะความดันโลหิตสูง
โดยส่วนมากผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงมักจะตรวจไม่พบสาเหตุที่ชัดเจน แต่จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูง ได้แก่ ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคความดันโลหิตสูง ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ที่ชอบรับประทานอาหารเค็ม ส่วนโรคความดันโลหิตสูงชนิดที่พบสาเหตุชัดเจน ถึงมีการพบน้อยแต่มีความสำคัญมาก เช่น โรคหลอดเลือดไตตีบ โรคต่อมหมวกไต แต่สามารถรักษาให้หายขาดได้ และโรคความดันโลหิตสูงนั้นหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและเหมาะสม อาจส่งผลให้ผู้ป่วยทุพพลภาพหรือเสียชีวิตได้
อาการของความดันโลหิตสูง
โดยส่วนมากผู้ที่มีระดับความดันโลหิตสูงส่วนมากมักจะไม่แสดงอาการ แต่บางรายจะพบอาการดังนี้
- ปวดศีรษะ
- เวียนศีรษะ
- ปวดต้นคอ
- มือเท้าชา
- หายใจถี่
- ตามัว
- เหนื่อยง่ายมากผิดปกติ
- ใจสั่น
- คลื้นไส้ อาเจียร
ภาวะแทรกซ้อน
หากมีระดับความดันโลหิตที่สูงนาน ๆ และไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและเหมาะสมอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจวาย ไตวายเรื้อรัง จอประสาทตาเสื่อม หลอดเลือดตีบ หลอดเลือดแตก และหลอดเลือดตัน โดยภาวะแทรกซ้อนจากความดันโลหิตสามารถได้ 2 กรณี คือ
- ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากความดันโลหิตสูงโดยตรง เช่น หลอดเลือดในสมองแตก
- ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากหลอดเลือดแดงตีบหรือตัน เช่น กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
โดยในผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง และยังไม่ได้เข้ารับการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสม อาจส่งผลให้เสียชีวิตได้มากถึง 60-75 %
การรักษาภาวะความดันโลหิตสูง
แนวทางการรักษาภาวะความดันโลหิตสูงด้วยการใช้ยาลดความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติสามารถช่วยลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ และนอกจากนี้อีกวิธีที่สามารถรักษาความดันโลหิตให้อยู่ในระดับที่ดีได้โดยการปรับพฤติกรรมโดยไม่ต้องใช้ยาร่วมด้วยมีดังนี้
- การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ วันละ 15-30 นาที อย่างน้อย 3-6 วันต่อสัปดาห์
- การควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติตาม BMI
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย และมีสารอาหารครบถ้วนตามที่ร่างกายต้องการต่อวันครบทั้ง 5 หมู่
- งด หรือลดปริมาณแอลกอฮอล์ให้เหมาะสม โดยไม่ดื่มมากจนเกินพอดี แต่หากเลี่ยงได้ควรเลี่ยงที่จะดื่ม
- ดูแลสุขภาพจิตเพื่อลดภาวะเครียด
- งดการสูบบุหรี่
- ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับยาที่ใช้อยู่ประจำ

การเตรียมตัวเพื่อวัดความดันโลหิต
- งดดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน กาแฟ แอลกอฮอล์ อย่างน้อย 30 นาที-1 ชั่วโมงก่อนการวัด
- ควรปัสสาวะก่อนทำการตรวจวัดความดัน
- งดการออกกำลังกาย หรือกิจกรรมต่าง ๆ และนั่งพักก่อนวัดความดันโลหิต อย่างน้อย 15-30 นาที
- ไม่พูดคุย หรือขยับตัว ขณะทำการวัดความดันโลหิต
การป้องกันและดูแลตนเอง
การป้องกันและการดูแลตนเองเมื่อมีภาวะความดันสูงหรือต่ำกว่าปกติมีดังนี้
- หลีกเลี่ยงอาหารประเภทของหมักดอง และอาหารแปรรูป เนื่องจากมีปริมาณโซเดียมที่สูงมาก เช่น กุ้งแห้ง ผักกาดดอง ปลาร้า
- งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด หรือจำกัดและควบคุมปริมาณการดื่ม
- หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกวัน อย่างน้อยวันละ 15-30 นาที ให้ได้ 3-5 วันต่อสัปดาห์
- การดูแลสุขภาพจิตใจของตนเองเพื่อลดภาวะเครียด เช่น การหากิจกรรมบรรเทาความเครียดอย่างการร้องเพลง การฝึกสมาธิ
- ปรึกษาแพทย์เรื่องการรับประทานยาที่ใช้อยู่เป็นประจำ เนื่องจากยาบางชนิดทำให้เกิดความดันโลหิตสูง จึงไม่ควรรับประทานยาเองหากไม่ได้ผ่านแพทย์หรือเภสัชกร
สรุปความดันสูง ความดันต่ำ
ความดันโลหิตเป็นภาวะที่สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าจะชายหรือหญิง วัยรุ่นหรือวัยสูงอายุ โดยในภาวะความดันโลหิตต่ำหากไม่มีภาวะช็อกร่วมด้วย จะมีความอันตรายน้อยกว่าความดันโลหิตสูง แต่หากมีภาวะความดันต่ำแล้วมีภาวะช็อกร่วมด้วยอาจทำให้มีอันตรายกว่าภาวะความดันโลหิตสูง ดังนั้นการวัดความดันโลหิตเป็นการตรวจเช็คความผิดปกติสุขภาพขั้นพื้นฐานที่ควรตรวจเช็คเป็นประจำ เพื่อช่วยลดผลกระทบจากการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดได้ ดังนั้นจึงควรมองเห็นถึงความสำคัญ และไม่ควรมองข้ามการตรวจความดันโลหิต