ในยุคที่ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนแข่งขันกันที่ความรวดเร็ว ความไว ใครทำได้เร็วกว่ามักจะเป็นผู้ชนะ ทำให้หลาย ๆ สิ่งก็ต้องปรับตัวตามไปด้วย ซึ่งการที่ทุกอย่างเร็วไปหมดแบบนี้ ก็ทำให้การรอคอยเริ่มเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก น่าหงุดหงิด ส่งผลต่ออารมณ์ของคนเป็นอย่างมาก ทำให้หลายคนกลายเป็นโรคสมาธิสั้นแบบไม่รู้ตัว โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่จะมีอาการได้ง่ายกว่าในผู้ใหญ่ ถ้ายังคงปล่อยให้อาการเหล่านี้ติดตัวเด็กไปเรื่อย ๆ ย่อมส่งผลต่อการเรียนรู้และการใช้ชีวิตในอนาคตอย่างแน่นอน
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับโรคสามาธิสั้น
โรคสมาธิสั้น หรือ ภาวะสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity Disorder :ADHD) เป็นโรคที่เกิดจากบริเวณสมองส่วนหน้าของมนุษย์ที่มีหน้าที่ในการควบคุมสมาธิและพฤติกรรมมีการทำงานที่มีความผิดปกติ หรือมีประสิทธิภาพลดลง ซึ่งปัจจัยที่ทำให้สมองส่วนหน้าของเราทำงานผิดปกตินั้น ก็มีอยู่หลายอย่างด้วยกัน แต่ส่วนใหญ่แล้ว สิ่งที่มีอิทธิพลที่สุดที่ทำให้เกิดความผิดปกติได้ก็คือ ปัจจัยทางชีวภาพ ทั้งปัจจัยทางด้านพันธุกรรม ด้านระบบประสาท หรือการที่ได้เคยได้รับสิ่งที่ไม่เหมาะสมในขณะที่กำลังอยู่ในครรภ์ของแม่ก็มีผลเช่นกัน ส่งผลให้ผู้ป่วยโรคสมาธิสั้นมีอาการขาดสมาธิ ไม่ละเอียดรอบคอบ ขาดการวางแผนในการทำงาน ไม่สนใจคนที่พูดด้วย ถูกกระตุ้นจากสิ่งเร้าต่าง ๆ ได้ง่าย เป็นต้น
หลาย ๆ ครั้งที่ได้ยินคำว่าโรคสมาธิสั้น สิ่งที่คนทั่วไปมักจะเข้าใจผิดก็คือโรคนี้จะเกิดขึ้นแต่ในเด็กเล็ก แต่ความจริงแล้ว ผู้ใหญ่ก็สามารถเป็นโรคสมาธิสั้นได้เช่นกัน โดยในผู้ใหญ่ที่มีอาการของโรคสมาธิสั้นนั้น จะเป็นคนที่มีปัญหาเกี่ยวกับการวางแผนการทำงานต่าง ๆ ไม่สามารถจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้ ไม่สามารถทำงานได้ตรงกับกำหนดเวลาที่ตั้งไว้ นอกจากการทำงาน ในเรื่องชีวิตส่วนตัวก็มีผลเช่นกัน เพราะจะไม่สามารถจัดการและบริหารการใช้ชีวิตได้เลย
อาการสมาธิสั้นในเด็ก จะแบ่งอาการได้เป็น 3 กลุ่มก็คือ
1. มีกลุ่มที่มีพฤติกรรมขาดสมาธิ
มีอาการเหม่อลอย ขี้ลืม ทำของหายบ่อย ๆ จดจ่อหรือทำอะไรนาน ๆ ไม่ได้ วอกแวกง่าย ทำงานไม่เสร็จ สับเพร่า
2. กลุ่มที่มีพฤติกรรมขาดความสามารถในการควบคุมตนเอง เช่น มีอาการซุกซนมากผิดปกติ อยู่ไม่นิ่ง กระสับกระส่าย นั่งไม่ติดที่ ชอบวิ่ง ไม่ชอบเดิน เล่นแรง ชอบปีนป่าย พูดเร็ว พูดไม่หยุด
3. กลุ่มที่มีพฤติกรรมที่มีอาการร่วมกัน ทั้งการการขาดสมาธิ ขาดความสามารถในการควบคุมตนเอง เช่น รอคอยไม่ได้ ไม่ชอบทำอะไรซ้ำ ๆ หรืออะไรที่ต้องรอนาน ไม่มีความอดทนมากพอที่จะทำงานให้เสร็จได้ มีอาการหุนหันพลันแล่น คิดอะไรได้ก็ทำเลย ชอบพูดสวนหรือพูดทะลุกลางปล้องแบบไม่สนใจว่าคนอื่นจะพูดหรือถามอะไรอยู่
อาการของโรคสมาธิสั้นเทียม (Pseudo-Attention deficit / Hyperactivity disorder) เป็นอาการที่คล้ายกับโรคสมาธิสั้น ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดเป็นโรคสมาธิสั้นเทียม โดยเฉพาะในเด็กนั้น มักจะมีสาเหตุมาจากปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การเลี้ยงดูของพ่อแม่หรือผู้ปกครองที่ไม่มีการสร้างวินัยให้เด็ก เลี้ยงแบบปล่อยให้เด็กเอาแต่ใจจนเกินไป ไม่มีการตั้งกฎในบ้าน และไม่มีการควบคุม
ส่วนอีกปัจจัยที่มีผลไม่แพ้กันในยุคนี้ก็คือ การปล่อยให้เด็ก ๆ เข้าถึงอุปกรณ์อเล็กทรอนิกส์และเครื่องมือสื่อสารต่าง ๆ ได้ง่าย เด็กจึงใช้ชีวิตอยู่กับหน้าจอเป็นส่วนใหญ่ ทำให้พัฒนาการในด้านอื่น ๆ ก็ช้าลงไปด้วย เมื่อปล่อยไว้นาน ๆ ก็จะกลายเป็นโรคสมาธิสั้นเทียมได้
โรคสมาธิสั้นนั้นส่วนใหญ่แล้วจะมาจากพันธุกรรมสูงถึง 75% นอกจากนั้นก็มักจะเกิดจากการเลี้ยงดู การได้รับสิ่งที่ไม่เหมาะสมขณะที่อยู่ในครรภ์ ส่งผลต่อสมองส่วนหน้า ทำให้เด็กที่เกิดมากลายเป็นโรคสมาธิสั้น
ผู้ป่วยโรคสมาธิสั้นมักจะมีอาการที่เด่นชัด คือ ขาดสมาธิ ทำงานไม่รอบคอบ ไม่มีการวางแผนที่ดี ไม่ฟังสิ่งที่ผู้อื่นพูด ไม่มีความพยายามที่จะทำงานให้เสร็จตามกำหนด วอกแวกง่าย ขี้ลืม อยู่ไม่นิ่ง หุนหันพลันแล่น พูดมากและพูดไม่หยุด มักจะทำงานผิดพลาดอยู่เสมอ
สาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยเป็นโรคสมาธิสั้นก็คือ การที่สมองส่วนหน้าที่มีหน้าที่ในการควบคุมการคิด การวางแผน การควบคุมตัวเอง และการจัดลำดับความสำคัญต่าง ๆ มีปัญหา ซึ่งมีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้เกิดโรคนี้ได้
การรักษาโรคสมาธิสั้นสามารถเริ่มได้ที่ตัวผู้ปกครองหรือคุณครูที่สามารถช่วยปรับพฤติกรรมของเด็ก ๆ ได้ วึ่งมีหลากหลายวิธีที่จะช่วยให้เด็กค่อย ๆ พัฒนาด้านอารมณ์และความคิดให้กลับมาเป็นปกติได้ หรือถ้าไม่สามารถปรับได้เอง ก็ควรปรึกษากับแพทย์เฉพาะทางเพื่อเข้ารับการรักษาด้วยยา เพื่อปรับสารเคมีในสมองให้กลับมาปกติ และใช้การปรับพฤติกรรมร่วมด้วย ซึ่งทำโดยผู้เชี่ยวชาญก็จะยิ่งเห็นผลได้เร็ว