วัคซีน และ เซรุ่ม ต่างเป็นสารที่ถูกฉีดเข้าไปในร่างกายของคนเราเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย ทำให้คนจำนวนมากยังเข้าใจสับสนระหว่างลักษณะและวัตถุประสงค์การใช้งานของสารทั้ง 2 ประเภทนี้
วัคซีน: เกราะป้องกันโรค
วัคซีน (Vaccine) คือสารที่ผลิตจากเชื้อโรคที่อ่อนแอลงหรือตายแล้ว หรือจากส่วนประกอบของเชื้อโรค เมื่อฉีดเข้าสู่ร่างกาย จะกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้สร้างแอนติบอดี (Antibody) ซึ่งเป็นโปรตีนที่ทำหน้าที่ต่อสู้กับเชื้อโรค แอนติบอดีเหล่านี้จะจดจำเชื้อโรค ทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกัน หากได้รับเชื้อโรคอีกครั้ง ระบบภูมิคุ้มกันจะตอบสนองได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ป้องกันการเกิดโรคหรือลดความรุนแรงของโรคได้

ประเภทของวัคซีน
1. วัคซีนเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ (Live-attenuated vaccines)
ผลิตจากเชื้อโรคที่ยังมีชีวิต แต่ถูกทำให้อ่อนแอลง มีข้อดีคือสร้างภูมิคุ้มกันได้ดีและยาวนาน มักต้องการการฉีดเพียงครั้งเดียว แต่ไม่เหมาะกับผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอ เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงคล้ายการติดเชื้ออ่อน ๆ ตัวอย่างของวัคซีนประเภทนี้ เช่น วัคซีนหัด หัดเยอรมัน คางทูม (MMR)
2. วัคซีนเชื้อตาย (Inactivated vaccines)
ผลิตจากเชื้อโรคที่ถูกฆ่าตายแล้ว เป็นตัวเลือกที่ปลอดภัยว่าสำหรับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ แต่สร้างภูมิคุ้มกันได้ไม่นานเท่าวัคซีนเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ จึงมักต้องฉีดหลายครั้ง เช่น วัคซีนโปลิโอ วัคซีนไข้หวัดใหญ่
3. วัคซีนท็อกซอยด์ (Toxoid vaccines)
ผลิตจากพิษของเชื้อโรคที่ถูกทำให้อ่อนฤทธิ์ เหมาะสำหรับใช้ป้องกันโรคที่เกิดจากพิษของเชื้อโรค แต่จำเป็นต้องได้รับการฉีดหลายครั้งเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน เช่น วัคซีนบาดทะยัก วัคซีนคอตีบ
4. วัคซีนซับยูนิต (Subunit vaccines)
ผลิตจากส่วนประกอบของเชื้อโรค เป็นวัคซีนที่ปลอดภัย มีผลข้างเคียงน้อย แต่จะอยู่ในร่างกายได้ไม่นาน ต้องได้รับการฉีดกระตุ้นเรื่อย ๆ เช่น วัคซีนไวรัสตับอักเสบบี วัคซีนเอชพีวี
5. วัคซีน mRNA (mRNA vaccines)
ใช้เทคโนโลยีการแพทย์สมัยใหม่ โดยส่งสารพันธุกรรมของเชื้อโรคเข้าไปในร่างกาย เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างโปรตีนของเชื้อโรคและสร้างภูมิคุ้มกัน มีข้อดีคือพัฒนาได้รวดเร็ว ปลอดภัย ไม่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อ แต่ยุ่งยากในการเก็บรักษา โดยต้องเก็บรักษาในอุณหภูมิต่ำมาก และมักมีผลข้างเคียงจากการฉีด เช่น ปวดแขน เป็นต้น ตัวอย่างของวัคซีนประเภทนี้ที่เรารู้จักกันดีคือ วัคซีนโควิด-19

เซรุ่ม: เกราะป้องกันฉุกเฉิน
เซรุ่ม (Serum) คือสารที่ประกอบด้วยแอนติบอดีสำเร็จรูป ซึ่งได้มาจากเลือดของสัตว์หรือคนที่เคยได้รับวัคซีนหรือหายจากโรคแล้ว เมื่อฉีดเข้าสู่ร่างกาย จะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทันที เหมาะสำหรับใช้ในกรณีฉุกเฉิน เช่น ถูกงูพิษกัด หรือสัมผัสโรคพิษสุนัขบ้า
ที่มาของเซรุ่ม
กระบวนการผลิตเซรุ่มเริ่มจากการฉีดเชื้อโรคที่อ่อนแอแล้ว หรือพิษที่ถูกทำให้เจือจางเข้าไปในตัวสิ่งมีชีวิต เพื่อกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันสร้างแอนติบอดี เมื่อระดับแอนติบอดีในเลือดสูงเพียงพอ จึงทำการเก็บเลือดมาสกัดเอาส่วนที่เป็นเซรุ่ม ซึ่งมีแอนติบอดีเข้มข้นออกมา โดยทั่วไป เซรุ่มผลิตจากแหล่งที่มาหลัก ๆ 2 แหล่ง ดังนี้
1. เซรุ่มจากสัตว์
โดยทั่วไปมักใช้ม้าเป็นหลักในการผลิตเซรุ่ม เนื่องจากม้ามีขนาดใหญ่ ทำให้สามารถเก็บเลือดได้ในปริมาณมาก และมีระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง
2. มนุษย์
เซรุ่มบางชนิดผลิตจากเลือดของมนุษย์ที่เคยได้รับวัคซีน หรือหายจากโรคแล้ว โดยเป็นวิธีที่ใช้ในการผลิตเซรุ่มที่มีความจำเพาะต่อโรคบางชนิด หรือในกรณีที่เซรุ่มจากสัตว์อาจก่อให้เกิดอาการแพ้ในมนุษย์ ตัวอย่างเช่น การผลิตเซรุ่มป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าจากเลือดคน

เปรียบเทียบระหว่างวัคซีนและเซรุ่ม
เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น ความแตกต่างระหว่างวัคซีนกับเซรุ่ม สามารถเปรียบเทียบได้ดังต่อไปนี้
1. วิธีการทำงาน
วัคซีนจะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันเอง ขณะที่เซรุ่มเป็นการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโดยใช้แอนติบอดีสำเร็จรูป
2. ระยะเวลาในการออกฤทธิ์
หลังฉีดวัคซีนจะต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์เพื่อให้ร่างกายการสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาเอง ขณะที่เซรุ่มออกฤทธิ์ทันที
3. ระยะเวลาของภูมิคุ้มกัน
ภูมิคุ้มกันจากวัคซีนสามารถอยู่ในร่างกายเราได้ยาวนานหลายปี หรือชั่วชีวิต ขณะที่ภูมิคุ้มกันจากเซรุ่มจะอยู่ในร่างกายเพียง 2-3 สัปดาห์เท่านั้น
4. วัตถุประสงค์
วัคซีนฉีดเพื่อป้องกันการติดโรค ขณะที่เซรุ่มฉีดเพื่อรักษาหรือป้องกันฉุกเฉิน หลังร่างกายสัมผัสกับโรคหรือพิษนั้นแล้ว
ข้อควรรู้เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนและเซรุ่ม
ในการฉีดไม่ว่าจะเป็นวัคซีนหรือเซรุ่ม มีข้อพึงปฏิบัติดังต่อไปนี้
1. ปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขเพื่อขอคำแนะนำเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนและเซรุ่มที่เหมาะสม
2. แจ้งประวัติการแพ้ยาหรือวัคซีนให้แพทย์ทราบก่อนการฉีด
3. สังเกตอาการหลังการฉีด หากมีอาการผิดปกติ เช่น ผื่น บวม หายใจลำบาก ให้รีบไปพบแพทย์
วัคซีนและเซรุ่มเป็นเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีประโยชน์อย่างมากในการป้องกันและรักษาโรค อย่างไรก็ตาม การใช้งานควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ
สรุป
วัคซีนและเซรุ่มต่างเป็นสารสร้างโดยเทคโนโลยีการแพทย์ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน แต่มีหลักการทำงานที่แตกต่างกัน โดยวัคซีนเป็นสารที่กระตุ้นให้ร่างกายของเราสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาเอง ภูมิคุ้มกันที่ได้จะอยู่ในร่างกายเราไปอีกเป็นเวลานานหลายปี หรือบางกรณีคือชั่วชีวิต ขณะที่เซรุ่มเป็นสารที่มีแอนติบอดีสำเร็จรูป ซึ่งสกัดมาจากเลือดของสัตว์หรือคนที่มีแอนติบอดีอยู่ในร่างกาย มีประโยชน์ในการใช้รักษาในกรณีฉุกเฉินที่ร่างกายของเราสัมผัสกับเชื้อโรค หรือพิษนั้น