ป้องกันก่อนสัมผัสเชื้อเอดส์ด้วยยาเพร็พ
เป็นอันรู้กันว่า การมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยคือ การมีเพศสัมพันธ์แบบป้องกัน นอกจากจะช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ ก็ช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะเชื้อเอชไอวีซึ่งสามารถพัฒนาไปเป็นโรคเอดส์ในอนาคตได้ และการป้องกันเชื้อเอชไอวีที่ได้รับการยอมรับว่าได้ผลดีในปัจจุบันคือ การทานยาเพร็พ (PrEP)
กันไว้ดีกว่าแก้ ทานยาเพร็พทุกวัน สร้างภูมิคุ้มกันเชื้อเอชไอวีอย่างมีประสิทธิภาพ
ยาเพร็พ (PrEP) หรือ Pre-Exposure Prophylaxis เป็นยาที่ใช้ป้องกันเชื้อเอชไอวีก่อนที่ผู้ใช้จะได้สัมผัสกับเชื้อผ่านช่องทางต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการมีเพศสัมพันธ์ หรือการต้องอยู่กับความเสี่ยงอื่น ๆ ที่อาจทำให้เกิดการส่งต่อเชื้อได้อย่างไม่ทันระวัง เช่น การมีคู่นอนหลายคน ผู้ที่ใช้เข็มฉีดยาเป็นประจำ หรือผู้ที่มีประวัติมีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในระยะเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา
ยาเพร็พนับว่าเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อเอชไอวีสูงมาก เรียกได้ว่าป้องกันได้เกือบ 100% ทว่าจะได้ผลดีต้องทานภายใต้เงื่อนไขคือ ต้องมีวินัยในการรับประทานยาทุกวัน และในเวลาเดียวกันไม่ให้ขาด นอกจากนั้น เวลาที่มีกิจกรรมทางเพศ ก็ต้องใช้ถุงยางอนามัยเสริมความปลอดภัยอีกขั้น
ปัจจุบันมีสถานพยาบาลที่จ่ายยา PrEP ให้กับผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง โดยก่อนที่จะรับยา ผู้มีความเสี่ยงควรงดมีเพศสัมพันธ์มาก่อนประมาณ 2 สัปดาห์ เมื่อมาถึงสถานพยาบาล แพทย์จะสั่งตรวจร่างกายเบื้องต้น เพื่อหาเชื้อเอชไอวี รวมทั้งการทำงานของตับและไต และเมื่อเริ่มทานยาแล้ว ก็จะต้องตรวจเลือดซ้ำด้วย
ไขข้อสงสัย ยาเพร็พกับยาเป็ปเหมือนกันหรือไม่
บางคนสับสนระหว่างยาเพร็พ กับยาเป็ป บอกเลยว่ายาสองตัวนี้ไม่เหมือนกัน เพร็พมาจาก Pre หมายถึงทานก่อนรับเชื้อ ส่วนเป็ป มาจาก Post หรือชื่อเต็ม ๆ คือ Post-Exposure Prophylaxis เป็นยาที่ใช้ป้องกันการรับเชื้อเอชไอวีแบบเร่งด่วน ในกรณีที่คาดว่าผ่านการสัมผัสเชื้อมาจากช่องทางต่าง ๆ และมีข้อควรระวังในการใช้คือ ต้องได้รับยาเป็ปภายใน 72 ชั่วโมงหลังจากคาดว่าสัมผัสเชื้อเท่านั้น ยิ่งรับยาเร็วเท่าไหร่ ประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อก็ยิ่งสูงตาม
ผู้ที่คาดว่าจะได้รับเชื้อเอชไอวี หลังจากทานยาเป็ปครบ 28 วันจะได้รับการนัดให้กลับมาตรวจร่างกายอีกครั้ง ระหว่างนี้จะมีข้อห้าม เช่น ห้ามมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน และห้ามไปบริจาคเลือด
หากรู้ตัวว่าเป็นผู้มีความเสี่ยง การเข้าไปที่สถานบริการเพื่อตรวจสุขภาพเบื้องต้นและขอรับยาเพร็พมารับประทาน เป็นทางเลือกที่ฉลาดและควรทำ เพราะช่วยลดโอกาสเกิดความเสี่ยงติดเชื้อเอชไอวีได้เกือบ 100% อย่างไรก็ตาม ย้ำอีกครั้งว่า ยาเพร็พไม่ได้ช่วยลดความเสี่ยงการตั้งครรภ์ หรือช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ดังนั้นวิธีคลาสสิกอย่างการใช้ถุงยางอนามัยก็ยังมีความจำเป็นอยู่เช่นเดิม
บทความที่น่าสนใจ
ยาเป๊ป pep ยาต้านเอดส์ฉุกเฉิน ป้องกัน HIV ข้อควรรู้ก่อนใช้ยา PEP