วิธีจัดการกับอาการแพ้ท้องและอาการไม่สบายอื่นๆ
การตั้งครรภ์เป็นช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความสุขและความตื่นเต้น แต่ก็อาจมาพร้อมกับอาการไม่สบายตัวต่าง ๆ โดยเฉพาะ “อาการแพ้ท้อง” ที่พบได้บ่อยในคุณแม่ท้องใหม่ บทความนี้จะพาคุณทำความเข้าใจอาการแพ้ท้องและวิธีรับมือ พร้อมดูแลสุขภาพให้แข็งแรงตลอด 9 เดือน
อาการแพ้ท้องคืออะไร?
อาการแพ้ท้อง (Morning Sickness) เป็นภาวะคลื่นไส้หรืออาเจียนที่มักเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย เช่น ฮอร์โมน hCG และเอสโตรเจน ที่ส่งผลต่อระบบทางเดินอาหารและประสาทรับกลิ่น แม้ชื่อภาษาอังกฤษจะระบุว่า “Morning” แต่คุณแม่บางคนอาจมีอาการตลอดวันได้
แพ้ท้องมีอาการอย่างไรบ้าง?
1. คลื่นไส้หรืออาเจียน
มักเกิดหลังตื่นนอน แต่ไม่จำเป็นต้องมีอาการในตอนเช้าเสมอไป
2. เหม็นกลิ่นอาหารหรือสารกระตุ้น
เช่น กลิ่นทอด กลิ่นน้ำหอม บางคนอาจมีจมูกไวผิดปกติ และเหม็นกลิ่นเล็กๆ น้อยๆ เช่น กลิ่นเหงื่อ กลิ่นยีสต์
3. เบื่ออาหาร
หรือรับประทานได้น้อย อันเนื่องมาจากการเหม็นกลิ่นอาหารนั่นเอง
4. อ่อนเพลีย
จากการสูญเสียพลังงานและน้ำไปกับการอาเจียน
ประมาณ 70-80% ของคุณแม่ตั้งครรภ์ประสบอาการนี้ แต่มีเพียงส่วนน้อยที่อาจมีอาการแพ้ท้องรุนแรง (Hyperemesis Gravidarum) จนต้องได้รับสารน้ำและยาจากแพทย์

วิธีรับมือกับอาการแพ้ท้อง
1. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน
1.1 กินอาหารทีละน้อย แต่บ่อยครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้ท้องว่าง
1.2 เลือกกินอาหารอ่อนๆ ย่อยง่าย เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก ขนมปังกรอบ
1.3 หลีกเลี่ยงอาหารที่มีกลิ่นฉุน รสจัด หรืออาหารมัน
1.4 ดื่มน้ำขิง หรือชาเปปเปอร์มินต์ เพื่อบรรเทาอาการคลื่นไส้
1.5 รับประทานขนมปังแครกเกอร์ก่อนลุกจากที่นอน เพราะเป็นคาร์โบไฮเดรตแห้งที่ย่อยง่าย ดูดซึมเร็ว
2. พักผ่อนให้เพียงพอ
การพักผ่อนอย่างเพียงพอจะช่วยลดความอ่อนเพลียและอาการคลื่นไส้ได้
3. หลีกเลี่ยงกลิ่นที่กระตุ้นอาการแพ้ท้อง
พยายามอยู่ในที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก และหลีกเลี่ยงกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์
4. ดูแลสุขภาพจิตใจ
ความเครียดและความวิตกกังวลอาจทำให้อาการแพ้ท้องแย่ลงได้ ลองทำกิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลาย เช่น โยคะ หรือนั่งสมาธิ

เทคนิคช่วยรับมือกับอาการแพ้ท้องสำหรับคนใกล้ชิด
การดูแลคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอาการแพ้ท้องไม่ใช่เรื่องง่าย แต่การสนับสนุนจากคนใกล้ชิดจะช่วยให้คุณแม่ผ่านช่วงเวลานี้ได้อย่างมีกำลังใจและสุขกายสบายใจมากขึ้น ต่อไปนี้คือวิธีช่วยเหลือที่ปฏิบัติได้จริง
1. ช่วยจัดการเรื่องอาหารการกิน
ด้วยการเตรียมอาหารมื้อเล็กๆ อย่างขนมปังกรอบ ผลไม้หั่นชิ้นเล็ก หรือโยเกิร์ต หรือของว่างที่เหมาะสำหรับคนท้องวางไว้ใกล้ตัว หรือพกติดตัวได้ง่าย เช่นขิงแช่อิ่ม ลูกเกด หรือขนมปังกรอบ ให้กินเวลาหิว
2. เครื่องดื่มสมุนไพรอุ่นๆ ด้วยกัน
เครื่องดื่มสมุนไพรอย่าง น้ำขิง น้ำมะนาว หรือชาเปปเปอร์มินท์ สามารถช่วยลดอาการคลื่นไส้
3. สร้างสภาพแวดล้อมที่ดี
ด้วยการไม่ปรุงอาหารที่มีกลิ่นแรงในบ้าน และหลีกเลี่ยงการใช้เครื่องใช้ส่วนตัว เช่น สบู่ แชมพู น้ำยาซักผ้า ที่มีกลิ่นแรง เปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเท หรือใช้เครื่องฟอกอากาศเพื่อลดกลิ่นอับ
4. ให้กำลังใจและเข้าใจสภาพจิตใจ
เข้าใจว่าคนท้องอาจรู้สึกเหนื่อยหรือหงุดหงิดจากอาการแพ้ท้อง รวมทั้งมีความเครียดและวิตกกังวลอันเนื่องมาจากการตั้งครรภ์ จึงควรชวนพูดคุย หากิจกรรมผ่อนคลายให้ทำ หมั่นชื่นชมและให้กำลังใจอยู่เสมอ
5. จดบันทึกอาการแพ้ท้อง
เพื่อสังเกตว่าอาหารหรือกิจกรรมใดที่กระตุ้นให้อาการแย่ลงจะได้ทำการดูแลได้อย่างถูกต้อง
6. เตรียมตัวสำหรับกรณีฉุกเฉิน
โดยควรศึกษาวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น และคอยสังเกต หากมีอาการรุนแรง เช่น อาเจียนตลอดเวลา ตัวเหลือง ปัสสาวะน้อย ควรรีบพาไปพบแพทย์

การรับมือกับอาการข้างเคียงอื่นๆ
1. ปวดเมื่อยตามร่างกาย
โดยเฉพาะปวดหลัง เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสรีระและการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักตัว คุณแม่ควรฝึกใช้ท่าทางที่ถูกต้องและใส่เสื้อพยุงครรภ์
2. ขาบวม
เกิดจากการที่ร่างกายของคนท้องจะผลิตเลือดและของเหลวเพิ่มขึ้น เพื่อใช้ส่งสารอาหารไปเลี้ยงทารก แก้ได้ด้วยการยกขาสูงขณะนอนและสวมรองเท้าสบาย ๆ
3. เหนื่อยล้า
เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ควรกินอาหารที่มีประโยชน์และพักผ่อนให้เพียงพอ
4. แสบร้อนกลางอก
จากกรดในกระเพาะไหลย้อน ซึ่งเกิดได้จากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนและการกดทับของมดลูกต่อกระเพาะอาหาร ควรกินมื้อเล็ก และหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด
5. ท้องผูก
เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนและการกดทับของมดลูก ควรกินไฟเบอร์จากผักผลไม้และดื่มน้ำมาก ๆ
6. ปัสสาวะบ่อย
เกิดจากการกดทับของมดลูกต่อกระเพาะปัสสาวะ อาจลดปริมาณน้ำก่อนนอน แต่ไม่ควรอดน้ำ
สรุป
อาการแพ้ท้องและความไม่สบายตัวระหว่างตั้งครรภ์เป็นเรื่องปกติ แต่สามารถบรรเทาได้ด้วยการปรับพฤติกรรมและดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสม การดูแลคุณแม่ที่มีอาการแพ้ท้องต้องอาศัยความเข้าใจ ความอดทน และการลงมือทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทั้งคุณแม่และทารกมีสุขภาพดี หากมีอาการรุนแรงหรือกังวลใจ ควรปรึกษาสูติแพทย์เพื่อรับคำแนะนำที่ถูกต้อง