เอชไอวี (HIV) เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เกิดจากไวรัสที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานบกพร่อง และหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาจพัฒนาไปสู่การเป็นโรคเอดส์ (AIDS) ซึ่งเป็นระยะสุดท้ายของการติดเชื้อเอชไอวี
สำหรับประเทศไทย มีรายงานว่าพบผู้ป่วยโรคเอดส์รายแรกในปี พ.ศ. 2527 โดยผู้ป่วยเป็นชายที่เดินทางไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา หลังจากนั้น ในช่วงปี พ.ศ. 2527 ถึง 2533 จำนวนผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรคเอดส์มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว รัฐบาลจึงได้ประกาศเจตนารมณ์ที่จะแก้ไขปัญหาโรคเอดส์ แต่จนถึงปัจจุบัน ความเข้าใจผิด ๆ เกี่ยวกับโรคนี้ยังคงมีอยู่ ซึ่งอาจนำไปสู่การปฏิบัติตัวที่ผิดพลาด หรือการเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อได้ เราจึงรวบรวมความเข้าใจผิดที่พบบ่อย พร้อมข้อมูลที่ถูกต้อง ดังนี้
ความเข้าใจผิด: เอชไอวีติดต่อเฉพาะกลุ่มชายรักชาย
ความจริง:
เอชไอวีเป็นโรคที่สามารถพบได้ในคนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะมีเพศวิถีใดก็ตาม และแม้จะเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แต่เอชไอวียังสามารถติดต่อได้ผ่านการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน หรือการรับเลือดที่มีเชื้อเอชไอวีทั้งทางตรงอย่างการรับบริจาคเลือด และทางอ้อม เช่น การสัมผัสบาดแผลของผู้ติดเชื้อ เป็นต้น

ความเข้าใจผิด: การสัมผัสผู้ติดเชื้อจะทำให้ติดเอชไอวี
ความจริง:
เอชไอวีไม่สามารถติดต่อได้จากการสัมผัสทั่วไป เช่น การจับมือ การกอด การใช้ห้องน้ำร่วมกัน หรือการรับประทานอาหารร่วมกัน เพราะเอชไอวีจะติดต่อผ่านทางเลือด น้ำอสุจิ น้ำในช่องคลอด น้ำนม และสารคัดหลั่งอื่นๆ เท่านั้น
ความเข้าใจผิด: เอชไอวีไม่สามารถรักษาได้
ความจริง:
ปัจจุบันมียาต้านไวรัสที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถควบคุมปริมาณไวรัสในร่างกายให้ต่ำ ทำให้กลับมามีร่างกายแข็งแรงตามปกติได้ภายในระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งหมายความว่าผู้ติดเชื้อเอชไอวีสามารถมีชีวิตที่ยืนยาวและมีสุขภาพดีได้เช่นเดียวกับคนทั่วไป อย่างไรก็ตาม ยาต้านไวรัสในปัจจุบันยังไม่สามารถทำให้เชื้อไวรัสหมดไปจากร่างกายได้ ผู้ติดเชื้อจึงต้องรับประทานยาไปตลอด

ความเข้าใจผิด: คนที่ดูแข็งแรงแปลว่าไม่ได้ติดเอชไอวี
ความจริง:
ผู้ติดเชื้อเอชไอวีจำนวนมากไม่มีอาการใดๆ ในระยะแรกของการติดเชื้อ หลังจากติดเชื้อเอชไอวี บางคนอาจมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ในช่วงแรก แต่หลังจากนั้นอาจไม่มีอาการใดๆ เป็นเวลาหลายปี โดยที่สามารถแพร่เชื้อเอชไอวีได้ในระหว่างนั้น จนกว่าจะเข้าสู่ระยะของการเป็นโรคเอดส์ จึงจะมีอาการแสดงออกมาให้เห็นแตกต่างกันออกไปตามแต่สภาพร่างกายของแต่ละคน การตรวจหาเอชไอวีจึงเป็นวิธีเดียวที่จะทราบว่าบุคคลนั้นติดเชื้อหรือไม่
ความเข้าใจผิด: การใช้ถุงยางอนามัยไม่สามารถป้องกันเอชไอวีได้
ความจริง:
การใช้ถุงยางอนามัยสามารถป้องกันเอชไอวีได้เกือบ 100% ถ้าหากผู้ใช้สวมใส่อย่างถูกต้องทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ โดยไม่ทำให้ถุงยางอนามัยแตก หรือฉีกขาด และไม่หลงลืมข้อควรระวังเล็กๆ น้อยๆ อย่างเช่น ควรใช้ทิชชูในการถอดถุงยางอนามัยทุกครั้ง เพราะการใช้มือเปล่าสัมผัสกับสารคัดหลั่งบนถุงยางอนามัยก็สามารถทำให้ติดเชื้อได้เช่นกัน
ความเข้าใจผิด: การจูบแบบแลกลิ้นทำให้ติดเอชไอวี
ความจริง:
การจูบโดยทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นการจูบแบบธรรมดา การจูบแบบแลกลิ้น หรือการจูบแบบดูดดื่ม ก็ไม่สามารถทำให้ติดเชื้อเอชไอวีได้ เนื่องจากเชื้อเอชไอวีไม่สามารถติดต่อผ่านน้ำลายได้ ยกเว้นในกรณีที่มีแผลในปากทั้งสองฝ่าย ก็อาจมีความเสี่ยงในการติดเชื้อได้

ความเข้าใจผิด: ยุงกัดทำให้ติดเอชไอวี
ความจริง:
ยุงไม่สามารถเป็นพาหะแพร่เชื้อเอชไอวีได้ เพราะไวรัสจะถูกย่อยสลายในระบบย่อยอาหารของยุง และทำให้เชื้อเอชไอวีไม่สามารถมีชีวิตอยู่ในตัวยุงได้
ความเข้าใจผิด: การมีเพศสัมพันธ์ทางปากปลอดภัยจากเอชไอวี
ความจริง:
การมีเพศสัมพันธ์ทางปากก็มีความเสี่ยงในการติดเชื้อเอชไอวีได้ หากมีแผลในช่องปากหรืออวัยวะเพศ
ความเข้าใจผิด: ถ้าแม่ติดเชื้อเอชไอวีลูกก็จะได้รับเชื้อเอชไอวีด้วย
ความจริง:
ปัจจุบัน ถ้าหากได้รับดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์และผ่านการทำคลอดอย่างถูกต้อง ผู้ติดเชื้อเอชไอวีสามารถมีลูกได้โดยมีความเสี่ยงต่ำมากที่จะส่งต่อเชื้อไปสู่ลูก
สรุป
ความเข้าใจผิด ๆ เกี่ยวกับเอชไอวีอาจทำให้เกิดได้ทั้งความกลัว หรือความประมาท ซึ่งนำไปสู่การปฏิบัติตัวอย่างไม่ถูกต้องต่อผู้ป่วย และป้องกันที่ผิดพลาด ทำให้เพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อ การศึกษาข้อมูลที่ถูกต้องและปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสมคือสิ่งสำคัญที่สุด เพื่อป้องกันตัวเองและลดการแพร่กระจายของเชื้อเอชไอวีในสังคม