ตกขาวหนึ่งในปัญหาที่ผู้หญิงต้องเผชิญอยู่บ่อยๆ โดยปกติแล้วตกขาวไม่ใช่อาการที่น่ากังวล หากไม่เยอะและไม่ได้รบกวนชีวิตประจำวัน แต่หากตกขาวเปลี่ยนเป็นสีอื่นอย่าง สีเขียว สีเทา สีเหลือง หรือสีอื่น และรู้สึกคันในช่องคลอด ปัสสาวะแสบขัด หรือมีกลิ่นเหม็นร่วมด้วย นี่เป็นสัญญาณของการติดเชื้อในช่องคลอดอยู่ ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อรักษาก่อนอาการจะลุกลามจนอาจกลายเป็นมะเร็งปากมดลูก เพราะฉะนั้นมาทำความเข้าใจเรื่องตกขาวกันสักนิด เพื่อสุขอนามัยและสุขภาพของร่างกาย
ตกขาว คืออะไร
ตกขาว (Leucorrhoea) หรือระดูขาวคือ สารคัดหลั่งที่ออกมาทางช่องคลอดของผู้หญิง ช่วยทำให้ช่องคลอดมีความชุ่มชื้น ป้องกันการติดเชื้อ และป้องกันการระคายเคือง ผู้หญิงทุกคนสามารถมีตกขาวได้เป็นเรื่องปกติจะมีลักษณะเป็นสีขาวหรือสีใส มักไม่มีกลิ่น หรือมีกลิ่นเล็กน้อยตามธรรมชาติ ปริมาณตกขาวจะแตกต่างไปตามแต่ละคน บางคนพบมาก บางคนพบน้อยตามร่างกายและการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน ช่วงที่พบอาการตกขาวแบ่งออกเป็น 3 ช่วงเวลา ได้แก่ ช่วงก่อนมีประจำเดือน ระหว่างมีประจำเดือน และช่วงหลังมีประจำเดือน
ลักษณะของตกขาว
วันที่ 1-5 = ช่วงที่มีประจำเดือน
วันที่ 6-14 = ช่วงหลังจากมีประจำเดือน ในช่วงนี้มักมีตกขาวน้อย ตกขาวที่พบจะมีลักษณะขาว ขุ่น เหนียว หรือเหลืองอ่อน
วันที่ 15-24 = ช่วงก่อนวันไข่ตก ในช่วงนี้อาจพบตกขาวเพิ่มขึ้น มีลักษณะคล้ายเมือกคล้ายไข่ขาว แต่หลังไข่ตกเรียบร้อยแล้วตกขาวจะเป็นสีขาวขุ่น
วันที่ 25-28 = ช่วงก่อนมีประจำเดือน เป็นช่วงที่ตกขาวน้อยลงจนหายไป
สาเหตุที่ทำให้เกิดการตกขาว
โดยปกติแล้วภายในช่องคลอดจะมีสภาพเป็นกรดอ่อน หรือมีค่า pH ประมาณ 3.8-4.4 มีเชื้อ Lactobacillus species หรือ ที่เรารู้จักกันในชื่อ “แลคโตบาซิลลัส” เป็นเชื้อประจำถิ่นที่ทำหน้าที่รักษาสมดุลในช่องคลอด ช่วยป้องกันเชื้อโรคต่าง ๆ ไม่ให้ เข้ามาเจริญเติบโตภายในช่องคลอด แต่ในกรณีที่พบตกขาวมีความผิดปกติต่างไปจากเดิมอาจมีสาเหตุดังนี้
- ติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส บริเวณช่องคลอด
- ติดเชื้อที่มาจากการมีเพศสัมพันธ์ เช่น หนองใน
- มีเชื้อราบริเวณช่องคลอด จากการสวมใส่ชุดชั้นในอับชื้น
- มีเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูกหรือปาดมดลูก
- มีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในช่องคลอด เช่น มะเร็ง เนื้องอก และอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดการระคายเคือง
- ฮอร์โมนในร่างกายผิดปกติ
- มีอาการอักเสบบริเวณปากมดลูก
- การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาสเตียรอยด์ ยาปฏิชีวนะ การใช้ยาคุมกำเนิด ฯลฯ
- โรคบางชนิด เช่น โรคเบาหวาน โรคกระดูกเชิงกรานอักเสบ
- รับประทานอาหารบางชนิด เช่น อาหารหมักดอง อาหารทะเล
- ตั้งครรภ์ โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ที่ป่วยโรคเบาหวาน
- ดูแลทำความสะอาดช่องคลอดผิดวิธี
ความอันตรายของตกขาว
โดยปกติแล้วตกขาวจะมีสีขาวหรือสีใส มักไม่มีกลิ่น ไม่มีอาการอื่น แต่หากพบตกขาวมีสีที่เปลี่ยนไปอาจบ่งบอกถึงความผิดปกติบางอย่างได้ ซึ่งสีของตกขาวสามารถบอกความผิดปกติของร่างกายได้
- สีขาว : ตั้งแต่สีขาวจนถึงสีเหลืองอ่อน เป็นอาการตกขาวปกติที่พบได้ทั่วไป แต่หากมีอาการผิดปกติ เช่น มีกลิ่น คัน ขาวเหนียวหรือมีอาการอื่นร่วมด้วย อาจเกิดจากการติดเชื้อรา
- สีเหลืองหรือสีเขียว : ตั้งแต่สีเหลืองเข้มจนถึงสีเขียว เป็นอาการผิดปกติที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือการติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์ มักมาพร้อมกลิ่นคาว กลิ่นเหม็นอับ ตกขาวเหนียวเป็นก้อนและอาการคันช่องคลอด
- สีเทา : ตกขาวสีเทาเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์แล้วติดเชื้อแบคทีเรีย หรือในกรณีใช้ยาสวนช่องคลอดหรือทานยาปฏิชีวนะต่อเนื่อง มักจะมีกลิ่นเหม็นคาวรุนแรง โดยเฉพาะหลังการมีเพศสัมพันธ์หรือช่วงหมดประจำเดือนใหม่ๆ
- ตกขาวมีเลือดปน : มักเกิดหลังจากมีประจำเดือน มักพบร่วมกับกลิ่นเหม็น นอกจากนี้ตกขาวรูปแบบนี้อาจเกิดจากการติดเชื้อที่ปากมดลูกได้เช่นกัน แต่ถ้าหากตกขาวเป็นสีแดง สีน้ำตาล สีเลือดเพิ่มมากขึ้นผิดปกติ มีของเหลวไหลออกมาอย่างต่อเนื่อง บางครั้งอาจมีเนื้อเยื่อหรือเนื้อตายออกมากด้วยซึ่งเป็นผลมาจากการติดเชื้อของเนื้องอก อาจเกี่ยวข้องกับมะเร็งปากมดลูก
ความเสี่ยงหากตกขาวผิดปกติบ่อยๆ
เมื่อเกิดตกขาวผิดปกติบ่อย ๆ ไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะหากปล่อยไว้เป็นระยะเวลานาน อาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อนตามมาได้ เช่น
- ปีกมดลูกอักเสบ
- ท่อนำไข่ตัน
- มีบุตรยาก
- เสี่ยงต่อการตั้งครรภ์นอกมดลูก
- มีก้อนฝีหรือหนองในอุ้งเชิงกราน
- มะเร็งปากมดลูก
อาการแบบไหนควรต้องไปพบแพทย์
ถึงแม้ว่าอาการตกขาวจะเป็นอาการที่สามารถพบได้ตามปกติ ไม่น่ากังวล แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าลักษณะของตกขาวที่เป็นอยู่จะปกติเสมอไป หากพบว่ามีสี หรืออาการผิดปกติต่างไปจากเดิม ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อรักษาอย่างทันท่วงที
- ตกขาวมีสีต่างจากเดิม เช่น สีเหลืองเข้ม สีเขียว สีเทา และอื่น ๆ
- ตกขาวมีกลิ่นเหม็นคาว
- ตกขาวมีเลือดปนหลังช่วงมีประจำเดือน
- ตกขาวมาเยอะผิดปกติ
- ตกขาวเป็นฟอง ตกขาวแป้งเปียก
- เลือดออกกะปริดกะปรอยช่วงไม่มีประจำเดือน
- เจ็บ คัน แสบร้อน บริเวณช่องคลอดหรืออวัยวะเพศ
- ช่องคลอดแห้งผิดปกติ
การรักษาดูแลอาการตกขาว
หากพบอาการตกขาวผิดปกติ สามารถดูแลและรักษาให้หายไม่กลับมาเป็นซ้ำได้ โดยแพทย์จะพิจารณาจากสาเหตุที่เกิดขึ้น
- หากผู้ป่วยตกขาวผิดปกติจากเชื้อราในช่องคลอด โดยทั่วไปแพทย์จะรักษาด้วยยาเหน็บร่วมกับยาทาภายนอก
- หากเกิดอาการตกขาวผิดปกติจากการติดเชื้อแบคทีเรียแพทย์จะให้ยาฆ่าเชื้อรับประทาน 1-7 วัน
- หากมีการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ลุกลามถึงมดลูกและรังไข่ ต้องรักษาด้วยการฉีดยาฆ่าเชื้อ
- หากเกิดจากพฤติกรรม ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน
- นอนหลับให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ งดการสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์
- ใส่กางเกงในที่มีเนื้อผ้าระบายอากาศได้ดี ไม่รัดตัวมากจนเกินไป
- ทำความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศสม่ำเสมอเพื่อไม่ให้เกิดการหมักหมม
ถึงแม้ว่าตกขาวจะเป็นอาการที่พบได้บ่อย แต่ในช่วงที่ร่างกายหรือช่องคลอดเกิดความผิดปกติต่างไปจากเดิม หรือมีอาการที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรักษาอย่างทันท่วงทีเพื่อป้องกันโรคร้ายที่อาจตามมาได้