โรคไข้เลือดออกเป็นโรคติดต่อที่เกิดจากไวรัสเดงกี (Dengue Virus) ซึ่งมียุงลายเป็นพาหะนำโรค โรคนี้พบได้บ่อยในประเทศเขตร้อนชื้น และจัดเป็นโรคระบาดประจำถิ่นในประเทศไทย โดยอาการของโรคมีตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงรุนแรง เช่น มีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และอาจมีภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายถึงชีวิตได้ เช่น เลือดออกในอวัยวะภายในหรือช็อกจากการสูญเสียเลือด
วัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกในไทย
ในปัจจุบัน ในประเทศไทยมีวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกอยู่ 2 ชนิด คือ
1. วัคซีนเดงวาเซีย (Dengvaxia)
เป็นวัคซีนซึ่งผลิตโดยบริษัท Sanofi Pasteur ของฝรั่งเศส ถือเป็นวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกชนิดแรก และเป็นชนิดเดียวที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้โดยองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (USFDA) วัคซีนชนิดนี้จะฉีดบริเวณต้นแขน โดยฉีดห่างกันเข็มละ 6 เดือน เมื่อฉีดครบ 3 เข็ม จะสามารถป้องกันไข้เลือดออกได้เป็นระยะเวลา 5-6 ปี
2. วัคซีนคิวเดงกา (Qdenga: TAK-003)
เป็นวัคซีนซึ่งผลิตโดยบริษัท Takeda Pharmaceutical จากประเทศญี่ปุ่น จากเทคโนโลยีซึ่งพัฒนาขึ้นโดยมหาวิทยาลัยมหิดลของไทย สามารถฉีดได้ทั้งผู้ที่เคยและไม่เคยเป็นโรคไข้เลือดออก การฉีดวัคซีนจะฉีดที่ต้นแขน จำนวน 2 เข็ม ห่างกันเข็มละ 3 เดือน สามารถป้องกันไข้เลือดออกได้เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 4.5 ปี

วัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกดีไหม?
วัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกทั้ง 2 ชนิด มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคไข้เลือดออกได้ประมาณ 80% ในกรณีที่ติดเชื้อ วัคซีนเดงวาเซียสามารถลดความรุนแรงของโรคได้ประมาณ 75% ขณะที่วัคซีนคิวเดงกาสามารถลดได้ 90.4% อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพของวัคซีนยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอีกหลายประการ ดังนี้
1. ประวัติการติดเชื้อ
วัคซีนคิวเดงกาสามารถฉีดได้ทั้งผู้ที่เคยละไม่เคยป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก แต่วัคซีนเดงวาเซียจะมีประสิทธิภาพสูงในผู้ที่เคยติดเชื้อไวรัสเดงกีมาก่อนเท่านั้น และยังอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไข้เลือดออกที่รุนแรงขึ้นในผู้ที่ไม่เคยเป็นไข้เลือดออกมาก่อนได้
2. อายุของผู้รับวัคซีน
วัคซีนเดงวาเซียจะมีประสิทธิภาพสูงสุดในช่วงอายุ 9-16 ปี และจะลดลงในกลุ่มที่มีอายุมากขึ้น โดยฉีดได้สูงสุดถึงอายุ 45 ปี ขณะที่วัคซีนคิวเดงกาสามารถฉีดได้ในช่วงอายุที่กว้างกว่าตั้งแต่ 4-60 ปี
3. ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย
ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายอ่อนแอ อาจตอบสนองต่อวัคซีนแตกต่างออกไปจากผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายแข็งแรง

เมื่อไหร่ที่ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก?
คุณและสมาชิกในครอบครัวควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกหรือไม่ สามารถพิจารณาได้จากปัจจัยหลายประการดังต่อไปนี้
1. พื้นที่ที่มีการระบาด
หากคุณอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคไข้เลือดออกบ่อยครั้ง การฉีดวัคซีนอาจเป็นทางเลือกที่ดีเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ
2. ประวัติการติดเชื้อ
ผู้ที่เคยป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกมาก่อน โรคติดต่อชนิดนี้มีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรงมากขึ้นเมื่อติดเชื้อซ้ำ จึงควรพิจารณาเรื่องการฉีดวัคซีน
3. ปัญหาสุขภาพ
ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ หรือโรคไต อาจพิจารณาฉีดวัคซีน
4. อายุ
เด็กเล็กและผู้สูงอายุเป็นวัยที่มีความเสี่ยงสูงหากป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก ดังนั้น หากพื้นที่อยู่อาศัยมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสเดงกี ควรฉีดวัคซีนป้องกันไว้
5. คำแนะนำจากแพทย์
ก่อนตัดสินใจฉีดวัคซีน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินความเสี่ยงและประโยชน์ที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล
ข้อควรระวังในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก
1. หญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตรไม่ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก
2. ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องไม่ควรฉีดวัคซีนทั้ง 2 ชนิดนี้
3. ผู้ที่มีประวัติแพ้วัคซีนไม่ควรฉีดวัคซีนทั้ง 2 ชนิดนี้

สรุป
วัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกเป็นเครื่องมือสำคัญในการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรค โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการระบาดสูง อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนควรพิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น ประวัติการติดเชื้อ อายุ และคำแนะนำจากแพทย์ เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดและลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น
การป้องกันโรคระบาดอย่างไข้เลือดออกไม่เพียงแต่ขึ้นอยู่กับวัคซีนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการควบคุมและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย การป้องกันตนเองจากการถูกยุงกัด และการเฝ้าระวังอาการของโรค หากมีไข้สูงหรืออาการน่าสงสัย ควรพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที