เมื่อพูดถึงโภชนาการสำหรับผู้สูงอายุ มักมีความเชื่อผิดๆ มากมายที่ทำให้หลายคนเข้าใจผิดเกี่ยวกับการบริโภคอาหาร โดยเฉพาะเรื่องของโปรตีน ที่หลายคนคิดว่าผู้สูงอายุไม่จำเป็นต้องได้รับโปรตีนมากนัก เพราะไม่ต้องใช้พลังงานมากเหมือนวัยหนุ่มสาว แต่ความจริงแล้ว โปรตีนเป็นสารอาหารที่สำคัญมากสำหรับผู้สูงอายุ และการขาดโปรตีนอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้อย่างร้ายแรง
ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการกินโปรตีนในผู้สูงอายุ
ผู้สูงอายุไม่ต้องการโปรตีนมาก เพราะไม่ได้ออกแรงหนัก
ความเชื่อนี้เป็นสิ่งที่ผิดต่อหลักโภชนาการสำหรับผู้สูงอายุ เพราะแม้ว่าผู้สูงอายุจะไม่ต้องออกแรงหนักเหมือนวัยทำงานหรือวัยหนุ่มสาว แต่ร่างกายยังต้องการโปรตีนในปริมาณที่ไม่แตกต่างไปจากเดิมเพื่อซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ และรักษามวลกล้ามเนื้อให้แข็งแรง
การกินโปรตีนมากเกินไปเป็นอันตรายต่อไต
ความเชื่อนี้ทำให้หลายคนหลีกเลี่ยงการกินโปรตีน แต่จริงๆ แล้ว การกินโปรตีนในปริมาณที่เหมาะสมไม่เป็นอันตรายต่อไต ยกเว้นในผู้ที่ได้รับการตรวจสุขภาพแล้วว่ามีปัญหาโรคไต ซึ่งควรปรึกษาแพทย์เพื่อกำหนดปริมาณโปรตีนที่เหมาะสม
โปรตีนจากพืชทดแทนโปรตีนจากสัตว์ได้ 100%
แม้โปรตีนจากพืชจะได้รับการแนะนำสำหรับผู้สูงอายุเพราะย่อยง่ายและมีไขมันต่ำแต่ก็ยังขาดกรดอะมิโนที่จำเป็นบางชนิด

โปรตีนมีความจำเป็นอย่างไรต่อผู้สูงอายุ
1. รักษามวลกล้ามเนื้อ
เมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายจะสูญเสียมวลกล้ามเนื้อตามธรรมชาติ ซึ่งเรียกว่า Sarcopenia การได้รับโปรตีนเพียงพอจะช่วยชะลอการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ และช่วยให้ผู้สูงอายุมีแรงและเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น
2. เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน
โปรตีนเป็นส่วนสำคัญในการสร้างเซลล์ภูมิคุ้มกัน การขาดโปรตีนอาจทำให้ร่างกายอ่อนแอและติดเชื้อง่ายขึ้น ซึ่งจะส่งผลอย่างมากต่อการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุ
3. ช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ
โปรตีนเป็นสารอาหารที่ช่วยซ่อมแซมเนื้อเยื่อและเซลล์ที่เสียหาย การได้รับโปรตีนเพียงพอจะช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวได้เร็วขึ้นหลังจากเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บ
4. รักษาสุขภาพกระดูก
โปรตีนมีส่วนช่วยในการรักษาสุขภาพกระดูกที่แข็งแรงให้กับผู้สูงอายุ ลดปัญหาสุขภาพที่จะตามมา
5. ป้องกันภาวะทุพโภชนาการ
ภาวะทุพโภชนาการในผู้สูงอายุเกิดมาจากกินอาหารไม่เพียงพอหรือไม่ครบหมู่ การได้รับโปรตีนอย่างเพียงพอจะช่วยป้องกันภาวะนี้และทำให้ร่างกายแข็งแรง
การเลือกรับประทานโปรตีนสำหรับผู้สูงอายุ
1. เลือกแหล่งโปรตีนคุณภาพสูงและมีความหลากหลาย
แหล่งโปรตีนที่ดีสำหรับผู้สูงอายุ ได้แก่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน เช่น เนื้อไก่ เนื้อปลา ไข่ ถั่วเหลือง เต้าหู้ และผลิตภัณฑ์จากนม เช่น นม โยเกิร์ต ชีส ควรเลือกโปรตีนที่ย่อยง่ายและมีไขมันต่ำ
2. แบ่งมื้ออาหารให้เหมาะสม
ผู้สูงอายุอาจมีปัญหาในการกินอาหารมื้อใหญ่ ดังนั้นควรแบ่งโปรตีนออกเป็นมื้อเล็กๆ หลายมื้อตลอดวัน เพื่อให้ร่างกายดูดซึมได้ดีขึ้น
3. เสริมโปรตีนจากพืช
สำหรับผู้สูงอายุที่อาจมีปัญหาในการกินเนื้อสัตว์เนื่องจากปัญหาด้านการเคี้ยว การย่อย หรือโรคข้างเคียงอื่นๆ สามารถเสริมโปรตีนจากพืช เช่น ถั่วต่างๆ เมล็ดธัญพืช และเต้าหู้ ซึ่งมีโปรตีนสูงและมีไขมันต่ำ
4. ปรึกษาแพทย์หรือนักโภชนาการ
หากมีปัญหาเกี่ยวกับการกินอาหารหรือมีโรคประจำตัว เช่น โรคไต ควรปรึกษาแพทย์หรือนักโภชนาการสำหรับผู้สูงอายุ รวมทั้งอาจเข้ารับการตรวจสุขภาพ เพื่อกำหนดปริมาณโปรตีนที่เหมาะสมกับสภาพร่างการ

แหล่งโปรตีนที่แนะนำสำหรับผู้สูงอายุ
แหล่งโปรตีนที่แนะนำสำหรับผู้สูงอายุควรมีคุณภาพสูง ย่อยง่าย และมีสารอาหารอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ควบคู่ไปด้วย
1. โปรตีนจากสัตว์
1.1 เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ได้แก่ เนื้อไก่ไร้หนัง, เนื้อหมูส่วนสันใน, เนื้อวัวส่วนสันในหรือเนื้อสันนอก โดยปรุงให้สุกและนุ่มเพื่อให้ย่อยง่าย
1.2 ปลา ปลาน้ำจืดจะมีโปรตีนสูงและย่อยง่าย ขณะที่ปลาทะเลจะมีกรดไขมันโอเมก้า-3 สูง ช่วยบำรุงสมองและหัวใจ
1.3 ไข่ แหล่งโปรตีนคุณภาพสูงและมีราคาถูก สามารถกินได้ทั้งไข่ขาวและไข่แดง แต่ควรจำกัดปริมาณไข่แดงในผู้ที่มีคอเลสเตอรอลสูง
1.4 ผลิตภัณฑ์จากนม มีแคลเซียมสูง ช่วยบำรุงกระดูกและฟัน ได้แก่ นมสดหรือนมพร่องมันเนย, โยเกิร์ตธรรมชาติ, ชีสไขมันต่ำ
2. โปรตีนจากพืช
2.1 ถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง มีกรดอะมิโนที่จำเป็นอยู่มาก เช่น เต้าหู้, นมถั่วเหลือง, เทมเป้
2.2 ถั่วต่างๆ มีโปรตีนสูงและมีไฟเบอร์ช่วยในการขับถ่าย ได้แก่ ถั่วเขียว, ถั่วดำ, ถั่วแดง, ถั่วลูกไก่
2.3 เมล็ดธัญพืช เช่น ข้าวกล้อง, ข้าวโอ๊ต, ควินัว, บัควีท
2.4 เมล็ดพืชและถั่วเปลือกแข็ง มีโปรตีนและไขมันดีที่ช่วยบำรุงสมองและหัวใจ ได้แก่ อัลมอนด์, เมล็ดฟักทอง, เมล็ดเจีย, วอลนัท
2.5 ผักบางชนิด มีโปรตีนอยู่ในปริมาณพอสมควร ได้แก่ บรอกโคลี, ผักโขม, หน่อไม้ฝรั่ง

สรุป
ความเชื่อที่ว่าผู้สูงอายุไม่ต้องการโปรตีนเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะตามหลักโภชนาการสำหรับผู้สูงอายุแล้ว โปรตีนเป็นสารอาหารที่สำคัญต่อการรักษาสุขภาพและคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ การได้รับโปรตีนอย่างเพียงพอจะช่วยป้องกันการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน และช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ดังนั้น ในการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุจึงควรจัดให้ผู้สูงอายุได้รับประทานโปรตีนจากแหล่งอาหารที่เหมาะสม และแบ่งมื้ออาหารให้เพียงพอตลอดวัน เพื่อให้ร่างกายมีสุขภาพที่แข็งแรงสมวัย