การออกกำลังกายสำคัญต่อผู้สูงอายุเพราะช่วยชะลอความเสื่อมของร่างกาย เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและกระดูก ลดความเสี่ยงของโรคต่างๆ และส่งผลดีต่อสุขภาพจิต
การออกกำลังกายทั้ง 7 ประเภทต่อไปนี้ ถือเป็นการออกกำลังกายเหมาะสมและส่งเสริมการดูแลสุขภาพในผู้สูงอายุ
1. การเดิน
การเดินเป็นการออกกำลังกายที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุเพราะมีแรงกระแทกต่ำ ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ กระดูก และข้อต่อ รวมทั้งช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจ ความดันสูง และโรคหลอดเลือดสมอง ช่วยปรับปรุงการทรงตัว ลดความเสี่ยงในการหกล้ม และยังช่วยลดความเครียด ความวิตกกังวล และภาวะซึมเศร้าได้ด้วย
คำแนะนำในการเดินสำหรับผู้สูงอายุ
1. สวมรองเท้าที่ใส่สบายและรองรับเท้าได้ดี
2. เดินบนทางเรียบและปลอดภัยจากสิ่งกีดขวาง
3. ควรเดินอย่างน้อย 30 นาที/วัน หรือ 150 นาที/สัปดาห์
4. หลีกเลี่ยงการเดินในสภาพอากาศร้อนจัด

2. การว่ายน้ำ
การว่ายน้ำเป็นการออกกำลังกายที่แนะนำสำหรับผู้สูงอายุที่มีปัญหาข้อเข่าหรือข้อสะโพก เนื่องจากมีน้ำช่วยพยุงร่างกาย ลดแรงกระแทกต่อข้อต่อ เหมาะสำหรับผู้สูงอายุที่มีปัญหาข้อเข่าหรือข้อสะโพก การเคลื่อนไหวในน้ำช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นและการทรงตัว และยังช่วยเพิ่มกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัว ช่วยให้ระบบหัวใจและหลอดเลือดแข็งแรงขึ้น
คำแนะนำในการว่ายน้ำสำหรับผู้สูงอายุ
1. เลือกสระที่มีพื้นผิวไม่ลื่น และมีเจ้าหน้าที่ดูแล
2. หลีกเลี่ยงการว่ายน้ำในน้ำเย็นจัด เพราะอาจทำให้เกิดตะคริว
3. ว่ายด้วยท่าฟรีสไตล์หรือท่ากรรเชียง ซึ่งเป็นท่าที่ไม่ทำให้ข้อต่อรับแรงกระแทกมากเกินไป
4. เริ่มต้นด้วยการว่ายน้ำ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ ครั้งละ 20-30 นาที แล้วค่อยๆ เพิ่มความถี่และระยะเวลา
3. การปั่นจักรยาน
การปั่นจักรยานเป็นการออกกำลังกายมีแรงกระแทกต่อข้อต่อต่ำ เหมาะสำหรับผู้สูงอายุที่มีปัญหาข้อเข่าหรือข้อสะโพก เสริมสร้างกล้ามเนื้อขาและแกนกลางลำตัว เพิ่มความคล่องตัวและการทรงตัว การปั่นจักรยานกลางแจ้ง ยังช่วยให้จิตใจสดชื่น ลดความเครียดได้
อย่างไรก็ตาม การปั่นจักรยานไม่เหมาะสำหรับผู้สูงอายุที่เป็นโรคกระดูกพรุน หรือมีปัญหาในการทรงตัว

คำแนะนำในการปั่นจักรยานสำหรับผู้สูงอายุ
1. เลือกจักรยานที่มีขนาดเหมาะสมกับรูปร่าง
2. ปั่นในสถานที่ที่มีเส้นทางเรียบ พื้นผิวไม่เปียกลื่น และปลอดภัยจากรถยนต์
3. สวมหมวกกันน็อคและอุปกรณ์ป้องกันเสมอ
4. ควรเริ่มจากการปั่นอยู่กับที่ก่อน เมื่อมีความชำนาญแล้ว จึงค่อยปั่นออกสู่ถนน
4. การเต้นลีลาศ
การเต้นลีลาศเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับดูแลสุขภาพในผู้สูงอายุ เพราะมีการเคลื่อนไหวที่หลากหลาย จึงเป็นการออกกำลังกายที่ช่วยให้ผู้สูงอายุได้ใช้กล้ามเนื้อทุกส่วนเสริมสร้างสมดุลและการทรง ช่วยกระตุ้นการทำงานของสมองและลดความเสี่ยงของภาวะสมองเสื่อม นอกจากนี้ ยังช่วยลดความเครียดและส่งเสริมสุขภาพจิตได้ดี
คำแนะนำในการเต้นลีลาศสำหรับผู้สูงอายุ
1. เลือกท่าเต้นที่ไม่ต้องใช้แรงกระแทกมากเกินไป และหลีกเลี่ยงท่าเต้นที่ต้องบิดตัวหรือหมุนตัวมากเกินไป
2. สวมรองเท้าที่ใส่สบายและรองรับเท้าได้ดี
3. เต้นในสถานที่ที่มีพื้นผิวเรียบและไม่ลื่น
4. หากมีอาการเจ็บตามข้อต่อต่างๆ ควรหยุดพักทันที
5. โยคะ
โยคะเป็นการออกกำลังกายที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุเพราะนอกจากจะเพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อและข้อต่อ ช่วยลดอาการปวดหลัง ปวดข้อ และอาการปวดอื่นๆ ที่มักพบในผู้สูงอายุ เสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อโดยรวมแล้ว ยังช่วยฝึกการทรงตัว ฝึกสมาธิช่วยลดความเครียดและความวิตกกังวล นอกจากนี้ การฝึกหายใจในโยคะยังช่วยให้ระบบหายใจทำงานได้ดีขึ้น
คำแนะนำในการฝึกโยคะสำหรับผู้สูงอายุ
1. เลือกคลาสโยคะที่ออกแบบมาสำหรับผู้สูงอายุหรือผู้เริ่มต้น
2. ควรใช้เก้าอี้ ผนัง หรืออุปกรณ์อื่นๆ เพื่อช่วยในการทรงตัว
3. หลีกเลี่ยงท่าโยคะที่ต้องบิดตัวหรือหมุนตัวมากเกินไป

6. ไทชิ
ไทชิมีการเคลื่อนไหวที่นุ่มนวล เหมาะสำหรับผู้สูงอายุที่มีปัญหาข้อต่อหรือกล้ามเนื้อ ท่าทางของไทชิช่วยฝึกการทรงตัว และการเคลื่อนไหวที่ช้าสามารถช่วยลดความเครียด ทำให้จิตใจสงบและมีสมาธิ ขณะที่การฝึกหายใจและการเคลื่อนไหวที่ต่อเนื่องจะช่วยปรับปรุงการทำงานของระบบหายใจและไหลเวียนโลหิต ดีต่อผู้ที่เป็นความดันสูง
คำแนะนำในการฝึกไทชิสำหรับผู้สูงอายุ
1. เริ่มต้นด้วยท่าพื้นฐานและค่อยๆ เพิ่มความซับซ้อนขึ้น
2. ฝึกท่าทางให้ถูกต้องและหายใจเข้าออกลึกๆ และสม่ำเสมอ
3. ฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอเพื่อได้รับประโยชน์สูงสุด
7. การออกกำลังกายแบบฝึกการทรงตัว
นอกจากการออกกำลังกายแบบจริงจังอย่างข้างต้นแล้ว การออกกำลังกายเล็กๆ น้อยๆ เพื่อช่วยฝึกการทรงตัวในผู้สูงอายุ เช่น การยืนขาเดียว หรือการเดินต่อเท้า ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม เพราะนอกจากจะช่วยป้องกันการหกล้มแล้ว ยังช่วยฝึกการประสานงานของร่างกาย ซึ่งมีผลต่อสมองด้วย
ข้อควรระวัง
1. ปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มออกกำลังกาย
2. หยุดออกกำลังกายทันทีหากรู้สึกเจ็บปวด
3. ดื่มน้ำให้เพียงพอทั้งก่อน ระหว่าง และหลังออกกำลังกาย
สรุป
การออกกำลังกายในผู้สูงอายุจะช่วยให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพแข็งแรง มีคุณภาพชีวิตที่ดี และสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างมีความสุข