แสงสีฟ้า (Blue Light)
เป็นคลื่นแสงที่มีพลังงานสูง โดยมีความยาวคลื่นสั้น (ประมาณ 400-500 นาโนเมตร) และมีพลังงานสูง แสงสีฟ้าเป็นส่วนหนึ่งของแสงที่มองเห็นได้ (Visible Light) จึงสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า และมีพลังงานใกล้เคียงกับรังสีอัลตราไวโอเลต (UV)
เราอาจรู้จักแสงสีฟ้าที่มาจากหน้าจออิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ แต่จริง ๆ แล้วที่มาของแสงสีฟ้าที่เราจะพบเจอได้ในชีวิตประจำวัน ได้แก่
แหล่งที่มาของแสงสีฟ้า
1. แสงจากดวงอาทิตย์ แสงสีฟ้าเป็นส่วนหนึ่งของแสงแดดตามธรรมชาติ
2. อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หน้าจอของอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต และโทรทัศน์ เป็นแหล่งกำเนิดแสงสีฟ้าที่เราส่วนใหญ่คุ้นเคย
3. หลอดไฟ หลอดไฟ LED และหลอดฟลูออเรสเซนต์บางประเภทก็ปล่อยแสงสีฟ้าออกมาด้วยเช่นกัน
แม้ว่าแสงสีฟ้าจะมีประโยชน์ในหลาย ๆ ด้าน เช่น ช่วยกระตุ้นความตื่นตัว ช่วยเพิ่มความจำ ฯลฯ แต่การได้รับแสงสีฟ้าในปริมาณมากเกินไป โดยเฉพาะในเวลากลางคืน อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพและทำให้เกิดริ้วรอยก่อนวัยอันควรได้

ผลกระทบของแสงสีฟ้าต่อสุขภาพ
การได้รับแสงสีฟ้าต่อเนื่องเป็นเวลานานเป็นประจำ นอกจากจะทำให้เกิดปัญหาสายตาแล้ว ยังส่งผลต่อสุขภาพด้านอื่น ๆ ในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งผลกระทบของแสงสีฟ้าต่อสุขภาพสามารถแบ่งออกได้ดังต่อไปนี้
1. ผลกระทบต่อดวงตา
1.1 ตาแห้งและตาล้า การจ้องหน้าจอเป็นเวลานานทำให้เรากระพริบตาน้อยลง ส่งผลให้ตาแห้งและตาล้า ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาสายตาอื่น ๆ ในระยะยาว
1.2 จอประสาทตาเสื่อม เกิดจากการที่แสงสีฟ้าสามารถทำลายเซลล์รับแสงในจอประสาทตาของเรา ส่งผลให้เกิดความเสื่อมในจอประสาทตา ซึ่งอาจนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นในระยะยาว
1.3 ต้อกระจก แสงสีฟ้าสามารถทะลุทะลวงเข้าไปในดวงตาได้ลึกถึงจอประสาทตา ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญในการมองเห็น การได้รับแสงสีฟ้ามากเกินไปอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อเซลล์ในเลนส์แก้วตา ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดต้อกระจกได้
2. ผลกระทบต่อการนอนหลับ
2.1 ยับยั้งการผลิตฮอร์โมนเมลาโทนิน ฮอร์โมนชนิดนี้ทำหน้าที่ควบคุมการนอนหลับของคนเรา เมื่อแสงสีฟ้าเข้าไปยับยั้งการผลิตฮอร์โมน ก็จะทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับ หรือนอนหลับไม่สนิท
2.2 ความผิดปกติของนาฬิกาชีวภาพ การได้รับแสงสีฟ้าในเวลากลางคืนอาจรบกวนการทำงานของนาฬิกาชีวภาพของร่างกาย ซึ่งนอกจากจะส่งผลให้เกิดปัญหาด้านการนอนหลับแล้ว ยังอาจส่งผลต่อการดูแลสุขภาพด้านอื่น ๆ ด้วย
3. ผลกระทบต่อผิวหนัง
3.1 เกิดริ้วรอยก่อนวัย แสงสีฟ้าสามารถกระตุ้นการสร้างอนุมูลอิสระ ซึ่งเป็นสารที่ทำลายเซลล์ผิวหนัง ถือเป็นศัตรูกับผู้ที่ต้องการชะลอวัย
3.2 เกิดผิวหมองคล้ำและจุดด่างดำ แสงสีฟ้าอาจทำให้เกิดการผลิตเม็ดสีผิวเพิ่มขึ้น จึงทำให้เกิดผิวสีเข้มขึ้นได้
4. ผลกระทบต่อสุขภาพโดยรวม
4.1 เพิ่มความเสี่ยงของโรคเรื้อรัง การนอนหลับที่ไม่เพียงพอและนาฬิกาชีวภาพที่ผิดปกติอาจเพิ่มความเสี่ยงของโรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคเบาหวาน
4.2 ส่งผลต่อปัญหาสุขภาพจิตในระยะยาว การนอนหลับไม่เพียงพอและความเครียดจากการจ้องหน้าจอเป็นเวลานาน ๆ มีผลโดยตรงต่อการเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคซึมเศร้า

วิธีใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างเหมาะสม เพื่อลดผลกระทบจากแสงสีฟ้า
อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ถือเป็นแหล่งที่มาของแสงสีฟ้าที่เราสัมผัสเป็นประจำและยาวนานที่สุด การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จึงเป็นสิ่งจำเป็น หากเราต้องการลดผลกระทบของแสงสีฟ้าที่มีต่อสุขภาพของเรา โดยวิธีการใช้งานอุปกรณ์อิเล็กรอนิกส์ที่เหมาะสมมีดังนี้
1. ใช้แสงสว่างที่เหมาะสมในห้องทำงาน เพื่อลดความแตกต่างของความสว่างระหว่างหน้าจอและสภาพแวดล้อม
2. จัดตำแหน่งหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้อยู่ในระดับสายตาและห่างจากดวงตาประมาณ 50-70 ซม.
3. ปรับแสงหน้าจอให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมอยู่เสมอ
4. เปิดโหมด “Night Light” หรือ “Night Shift” บนอุปกรณ์เพื่อลดแสงสีฟ้าและเพิ่มแสงสีอุ่น
5. ใช้แว่นกรองแสงสีฟ้าเมื่อต้องใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เป็นเวลานาน
6. ปฏิบัติตามกฎ 20-20-20 โดยทุก 20 นาที ให้พักสายตา ด้วยการมองไปยังวัตถุที่อยู่ห่าง 20 ฟุต เป็นเวลา 20 วินาที

วิธีการดูแลสุขภาพเพื่อลดผลกระทบของแสงสีฟ้า
นอกจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แล้ว การดูแลสุขภาพในด้านอื่นๆ ก็สามารถช่วยลดผลกระทบของแสงสีฟ้าต่อสุขภาพของเราได้เช่นกัน
1. รับประทานอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น ผักใบเขียว แครอท ผลไม้ตระกูลเบอร์รี และปลาที่มีโอเมก้า-3
2. ทาครีมกันแดดที่มีส่วนผสมของสารป้องกันแสงสีฟ้า
3. นอนหลับให้ได้ 7-9 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อให้ร่างกายและดวงตาได้ฟื้นฟู
4. ตรวจสุขภาพตาปีละครั้งเพื่อประเมินผลกระทบจากแสงสีฟ้าและรับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ
สรุป
เพื่อการดูแลสุขภาพและชะลอวัย เราควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยใช้เท่าที่จำเป็นและเหมาะสม เพื่อลดผลกระทบจากแสงสีฟ้าที่จะมีต่อร่างกายของเรา รวมทั้งดูแลสุขภาพด้วยการ หมั่นพักสายตา รับประทานอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสร และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ