หลายครั้งการติดเชื้อในกระแสเลือดเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตในผู้ป่วย ซึ่งคุณเองก็อาจเคยได้ยินคำนี้มาบ้างหรืออาจมีคนใกล้ตัวที่ต้องจากไปจากภาวะนี้ บทความนี้เราเลยจะมาคลายข้อสงสัยที่เกี่ยวข้องกับคำว่าติดเชื้อในกระแสเลือดกันว่าคืออะไร สาเหตุมาจากไหน สามารถรักษาให้หายได้หรือไม่ รวมถึงการดูแลตัวเองและคนใกล้ชิดให้ห่างไกลจากภาวะอันตรายนี้กัน
ติดเชื้อในกระแสเลือด (Septicemia) คืออะไร ?
สำหรับภาวะติดเชื้อในกระเเสเลือด (Septicemia) นั้นเกิดจากการติดเชื้อ อาทิ เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส หรือเชื้อรา ที่อวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย เช่น ช่องท้อง ปอด หรือผิวหนัง เป็นต้น ซึ่งเมื่อเกดการติดเชื้อขึ้นแล้วโดยธรรมชาติร่างการของเราจะตอบสนองต่อพิษของเชื้อโรคนั้น ทำให้เกิดอาการอักเสบขึ้นที่อวัยวะส่วนที่ติดเชื้อและอาจลุกลามไปยังส่วนอื่น ๆ ด้วย และหากเป็นการติดเชื้อที่รุนแรง การทำงานของอวัยวะในร่างกายอาจล้มเหลว ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตได้

สาเหตุของการติดเชื้อในกระแสเลือด
สาเหตุหลักชองการติดเชื้อในกระแสเลือดก็คือการที่ร่างกายของผู้ป่วยมีความอ่อนแอหรือเกิดความยกพร่องของภูมิคุ้มกัน ทำให้ร่างกายได้รับเชื้อโรคต่าง ๆ ได้ง่าย โดยการติดเชื้อสามารถเกิดขึ้นได้ในหลายส่วนของร่างกาย อาทิ ระบบทางเดินหายใจ ช่องท้อง ระบบทางเดินอาหาร ระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งส่งผลให้เกิดอากการอักเสบของกรวยไต ปอด ลำไส้ ตับหรือถุงน้ำดี นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากการทำหัตถการผ่านสายฟอกไต สายปัสสาวะได้อีกด้วย
อาการติดเชื้อในกระแสเลือดแบบไหนที่ควรรีบไปพบแพทย์
ลองสังเกตอาการเหล่านี้ของคนใกล้ตัวโดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง โรคเบาหวาน หรือผู้สูงอายุ ซึ่งอาการที่บ่งชี้ว่าอาจเกิดภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดนั้น ได้แก่ หายใจเร็ว (มากกว่า 20 ครั้งต่อน่าที) ความดันต่ำลงมากกว่าปกติ ชีพจรเต้นเร็ว มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส และยิ่งอันตรายถ้ารอุณหภูมิร่างกานต่ำกว่า 36 องศาเซลเซียส ผู้ป่วยมีอาการซึม มึนงง หรืออาเจียน ไม่มีเรี่ยวแรง หากพบสัญญาณเหล่านี้ควรนำผู้ป่วยไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยทันที

ภาวะแทรกซ้อนของผู้มีอาการติดเชื้อในกระแสเลือด
สิ่งที่เป็นอันตรายของภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดก็คืออาการแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่ตามมา โดยในรายที่มีอาการรุนแรงจะพบว่าผู้ป่วยมีความดันต่ำลง ส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้น้อยลง มีลิ่มเลือดอุดตันในเส้นเลือดฝอย ที่อันตรายก็คืออาจนำไปสู่การทำงานล้มเหลวของอวัยวะในร่างกายหลายส่วน อาทิ ภาวะการหายใจล้มเหลว ภาวะไตวาบเฉียบพลัน ภาวะเลือดเป็นกรด ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดอาการช็อกขึ้นได้ ส่วนการฟื้นตัวของผู้ป่วยแต่ละรายก็ขึ้นกับความรุนแรงของอาการ และจะยิ่งนานขึ้นหากเป็นผู้ป่วยโคม่าหรือผู้ที่รักษาอยู่ในห้องไอซียู
การรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด
สิ่งที่ควรตระหนักก็คือหากสังเกตพบอาการและรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลจะช่วยลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตลงได้ ในส่วนของวิธีการรักษาภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดนั้น แพทย์จะทำการวินิจฉัยจากอาการ และผลเลือด ตามด้วยการให้ยาฆ่าเชื้อในรายที่อาการไม่รุนแรง โดยรักษาตามอาการด้วยยาต้านจุลชีพ หรือยาปฏิชีวนะ ส่วนในรายที่อาการรุนแรงอาจต้องทำการผ่าตัดบริเวณอวัยวะที่เกิดการติดเชื้อ เช่น ผ่าตัดเนื้อเยื่อผิวหนังที่ตาย ระบายน้ำในช่องท้อง ฟอกไต การให้เลือก หรือหากมีปัญหาเรื่องระบบการหายใจก็อาจใส่ท่อช่วยหายใจและให้ออกซิเจน
การดูแลผู้ป่วยและการป้องกันภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด
1.การออกกำลังกายและทานอาหารที่มีประโยชน์
วิธีที่ง่ายที่สุดในการป้องกันและดูแลตัวเองหรือคนใกล้ชิดก็คือการทำร่างกายให้มีความแข็งแรงด้วยการออกกำลังกายอย่างเหมาะสม การทานอาหารที่มีประโยชน์รวมถึงการพักผ่อนอย่างเพียงพอด้วย
2.การฉีดวัคซีนให้ครบและตรงตามกำหนด
เรื่องที่หลายคนมองข้ามก็คือการรับวัคซีนให้ตรงตามกำหนด เพื่อป้องกันอาการป่วยต่าง ๆ เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนป้องกันบาดทะยัก วัคซีนไวรัสตับอักเสบ เมื่อร่างกายแข้งแรงไม่มีโรคภัยก็ลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในกระแสเลือดได้
3.สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว
ในส่วนของผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดัน โรคไต ควรไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้งเพื่อไม่ให้อาการกำเริบรุนแรงจนนำไปสู่ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด

สรุป
ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดมีโอกาสเกิดขึ้นได้กับทุกคนไม่ใช่เพียงแค่ผู้ที่มีโรคประจำตัวเท่านั้น ซึ่งการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ การรับวัคซีนตามกำหนด การไปพบแพทย์ตามนัดสำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้วจะช่วยลดความเสี่ยงลงได้ รวมถึงการไปพบแพทย์ทันทีที่สงสัยว่ามีอาการจะช่วยลดโอกาสในการเสียชีวิตของผู้ป่วยลงได้อีกด้วย