ตรวจสุขภาพก่อนทำงาน ทำไมต้องตรวจ และตรวจอะไรบ้าง? ในปัจจุบันหลายๆ บริษัทเมื่อผู้สัมภาษณ์งานผ่านการคัดกรองความรู้ ความสามารถในตำแหน่งงานแล้ว สิ่งหนึ่งที่เกือบทุกบริษัทให้ความสำคัญอย่างมากไม่แพ้กันคือเรื่องสุขภาพของพนักงานใหม่
การตรวจสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากการมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงปกติดีไม่มีโรคติดต่อที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานทั้งต่อตนเอง ต่อเพื่อนร่วมงาน รวมถึงลูกค้าและบุคคลภายนอก จะทำให้พนักงานทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นภาพลักษณ์ที่ดีให้กับบริษัทอีกด้วย
รวมเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการตรวจสุขภาพก่อนเริ่มทำงาน
ทำไมต้อง ตรวจสุขภาพก่อนทำงาน ?
การตรวจสุขภาพก่อนเริ่มงาน เป็นการเช็คสภาพร่างกายของพนักงานใหม่เพื่อให้มั่นใจว่าสภาพร่างกายพร้อมที่จะเริ่มงานกับทางบริษัท และยังทำให้เสริมความมั่นใจให้ผู้ร่วมงานว่าทุกคนที่ทำงานร่วมกันไม่มีโรคติดต่อที่อาจเกิดการระบาดขึ้น หรือไม่เสี่ยงต่อการเกิดอาการกำเริบ อย่างเช่น กลุ่มคนที่ต้องทำงานในที่สูง
การตรวจสุขภาพก่อนเริ่มงานเป็นการยืนยันว่าผู้เริ่มงานใหม่พร้อมจะปฏิบัติงานบนที่สูงจะไม่เกิดการกำเริบของโรคประจำตัวขณะที่ปฏิบัติงานที่อาจก่อให้เกิดอันตรายได้
ตรวจสุขภาพก่อนทำงาน มีประโยชน์ทั้งต่อบริษัทและต่อผู้ปฏิบัติงานเอง
- ประโยชน์ของบริษัท : เพื่อให้มั่นใจได้ว่าพนักงานใหม่มีสุขภาพร่างกายที่พร้อมทำงาน จะทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ รวมทั้งเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีโรคเรื้อรังที่ต้องคอยไปรักษา เพราะหากต้องลาหยุด หรือขาดงานบ่อย ๆ ยิ่งในงานที่จำเป็นต้องทำงานเป็นทีม หรืออยู่ในตำแหน่งสำคัญที่ไม่สามารถมีใครมาทำแทนได้การลาบ่อยอาจส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลงได้ และเพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีโรคที่สามารถติดต่อได้ง่าย เช่น วัณโรค ที่เชื้อสามารถแพร่กระจายผ่านทางอากาศ ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อเพื่อนร่วมงาน และลูกค้าหรือบุคคลภายนอกคนอื่น ๆ
- ประโยชน์ต่อพนักงาน : สำหรับคนที่ไม่ค่อยได้ตรวจสุขภาพ การตรวจสุขภาพก่อนเริ่มงานถือเป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้ทราบถึงสุขภาพร่างกายของตัวเอง เพราะบางโรคอาจจะไม่แสดงอาการออกมาให้เห็น จะทราบก็ต่อเมื่อตรวจร่างกาย และการตรวจพบโรคเร็วจะทำให้มีโอกาสในการรักษาให้หายได้มากขึ้น และลดภาระค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นได้อีกด้วย
ตรวจสุขภาพก่อนเข้าทำงาน ตรวจอะไรบ้าง?
การตรวจสุขภาพก่อนเข้าทำงาน จะแตกต่างกันไปในแต่ละบริษัทและตำแหน่งงานแต่โดยทั่วไปจะมีการตรวจดังนี้
ซักประวัติและตรวจสุขภาพทั่วไป (Physical exams)
เป็นการซักประวัติเพื่อคัดกรองข้อมูลเบื้องต้น อาจถามถึงการรับประทานยา อาหารเสริมที่ใช้ รวมถึงความผิดปกติของร่างกายในช่วงที่ผ่านมา เพื่อใช้ประกอบคำวินิจฉัยร่วมกับการตรวจอื่น ๆ เช่น ตรวจวัดสัญญาณชีพ ความดันโลหิต การทำงานของระบบประสาท สามารถช่วยวินิจฉัยโรคได้หลายโรค เช่น โรคความดันโลหิตสูง, โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ, โรคอ้วน เป็นต้น
ตรวจเอกซเรย์ทรวงอก ปอดและหัวใจ
เป็นการตรวจระบบภายในร่างกายที่ประกอบไปด้วยโครงกระดูก ปอด และหัวใจ เพื่อตรวจหาอาการติดเชื้อ
การตรวจวัดทางสายตา
การตรวจวัดทางสายตาจะตรวจด้วยระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อหาปัญหาทางสายตาเบื้องต้น โดยดูที่การตอบสนองของดวงตา ค่าสายตา ตรวจตาบอดสี หากพบอาการ แพทย์จะให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัว หรือแนะนำแนวทางการรักษาต่อไป
ตรวจปัสสาวะและตรวจสารเสพติด
โดยปกติมักจะตรวจจากปัสสาวะ โดยหาสารเมทแอมเฟตามีน (Methamphetamine) และแอมเฟตามีน (Amphetamine) สารดังกล่าวจะตรวจพบหากมีการเสพยาบ้า ยาไอซ์ ซึ่งจะตกค้างในปัสสาวะได้นานกว่าในเลือด เส้นผม และเล็บ
และการตรวจปัสสาวะสามารถตรวจโรคอื่น ๆ เช่น การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ โรคไต และโรคเบาหวานได้อีกด้วย
ตรวจหาเชื้อไวรัส โรคติดต่อ
การตรวจหาโรคติดต่อบางโรคเช่น ไวรัสตับอักเสบบี ที่สามารถติดต่อผ่านทางเลือดหรือสารคัดหลั่งผ่านเข้าทางบาดแผล, การใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกัน เช่น กรรไกรตัดเล็บ, แปรงสีฟัน, ที่โกนหนวด ฯลฯ หรือตรวจหาเชื้อเอดส์ หรือ HIV แม้ไม่ใช่โรคติดต่อร้ายแรงที่ติดต่อได้ง่ายเพราะการแพร่เชื้อจะต้องผ่านทางเลือดและสารคัดหลั่ง แต่ก็เพื่อสร้างความมั่นใจต่อเพื่อนร่วมงาน
ตรวจสุขภาพก่อนเข้าทำงาน 5 โรคคืออะไร?
สำหรับบางบริษัทจะมีการระบุให้ตรวจสุขภาพก่อนเริ่มงาน โดยขอใบรับรองแพทย์ 5 โรค จากคลินิกตรวจสุขภาพสมัครงานหรือโรงพยาบาลที่น่าเชื่อถือเพื่อลดความเสี่ยงและปัญหาต่าง ๆ ที่จะตามมา
- วัณโรคในระยะอันตราย
- โรคเท้าช้าง
- โรคยาเสพติดให้โทษ
- โรคพิษสุราเรื้อรัง
- โรคเรื้อรังหรือร้ายแรงอื่น ๆ ที่มีการแสดงอาการอย่างชัดเจน
ผู้ชายกับผู้หญิงมีรายการตรวจต่างกันไหม?
- การตรวจสุขภาพก่อนเริ่มทำงานผู้ชาย : ที่แตกต่างจากผู้หญิง เช่น การตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมาก (สำหรับผู้ชายอายุ 40 ปีขึ้นไป) และการตรวจถุงลมโป่งพองผู้ชายที่สูบบุหรี่ทุกคนควรตรวจ
- การตรวจสุขภาพก่อนเริ่มทำงานผู้หญิง : เช่น การตรวจภายใน เพื่อคัดกรองมะเร็งปากมดลูกหรือที่เรียกว่าวิธี แปปสเมียร์ (Pap Smear) ซึ่งเป็นหนึ่งในรายการที่ควรตรวจตั้งแต่อายุ 21 ปี หรือสัญญาณของโรคมะเร็ง, ตรวจเต้านม ด้วยการคลำเต้านมหรือใช้เครื่องแมมโมแกรมถ่ายภาพเต้านม เพื่อหาความผิดปกติของก้อนเนื้อ
การเตรียมตัวเพื่อตรวจสุขภาพก่อนเข้าทำงาน
การตรวจสุขภาพก่อนเริ่มทำงานควรมาตรวจในช่วงเช้า เพื่อให้มีเวลาในการงดอาหารตอนกลางคืน และการเตรียมตัวส่วนอื่น ๆ ดังต่อไปนี้
- เตรียมเอกสารเพื่อยืนยันตัวให้เรียบร้อย เช่น บัตรประชาชนตัวจริง ใบขับขี่
- เตรียมใบส่งตัว (ถ้ามี) สามารถรับใบส่งตัวจากฝ่ายทรัพยากรบุคคล หรือในกรณีที่บริษัทมีการร่วมมือกับโรงพยาบาล และอาจมีการส่งผลตรวจไปที่บริษัทโดยตรง
- หากมีโรคประจำตัวหรือประวัติสุขภาพ ควรนำเอกสารมาและแจ้งเจ้าหน้าที่
- พักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง การนอนไม่พอจะส่งผลต่อการเต้นของหัวใจและความดันโลหิต
- งดอาหารและเครื่องดื่มอย่างน้อย 8-10 ชั่วโมงก่อนการตรววจ สามารถจิบน้ำเปล่าได้เล็กน้อย
- สวมเสื้อผ้าที่ใส่สบายเพื่อสะดวกต่อการเจาะเลือดบริเวณข้อพับแขน และการเปลี่ยนชุด
- งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ อย่างน้อย 24 – 48 ชั่วโมง
- หากมีประวัติสุขภาพ ยา/อาหารเสริมที่ทานประจำหรือฟิล์มเอกซเรย์เก่า ควรนำติดตัวไปด้วย
- สำหรับผู้ที่สงสัยว่าจะตั้งครรภ์ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ก่อนตรวจ
- สำหรับผู้หญิงหากอยู่ในช่วงมีประจำเดือน ควรเว้นช่วงตรวจก่อนและหลังมีประจำเดือน 7 วัน
ตรวจสุขภาพก่อนเข้าทำงานต่างจากการตรวจสุขภาพประจำปีอย่างไร ?
- การตรวจสุขภาพก่อนเข้างาน เป็นการตรวจที่เฉพาะเจาะจงที่อาจส่งผลต่อสภาพการทำงาน เช่นตาบอดสี และการเจาะจง 5 โรคที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานและส่งผลต่อเพื่อนร่วมงาน หากตรวจพบโรคหรือภาวะผิดปกติแพทย์จะแนะนำให้ตรวจร่างกายอย่างละเอียดต่อไป
- การตรวจสุขภาพประจำปีเป็นการตรวจการทำงานของระบบต่าง ๆ ของร่างกาย ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด การตรวจวัดระดับไขมันคอเลสเตอรอลในเลือด เป็นต้น เพื่อหาความเสี่ยง หรือความผิดปกติที่อาจนำไปสู่โรคร้ายในอนาคตได้ จึงมีรายการตรวจที่เยอะกว่าและละเอียดกว่าการตรวจสุขภาพก่อนเริ่มงาน
ตรวจสุขภาพก่อนเข้าทำงานราคาเท่าไร?
การตรวจสุขภาพก่อนเริ่มงานค่าใช้จ่ายจะขึ้นอยู่กับสถานบริการในแต่ละแห่ง และรายการของสุขภาพและโรคที่จะต้องตรวจ แต่โดยทั่วไปจะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 500-2,000 บาท
ซึ่งหากคุณกำลังมองหาโปรแกรมการตรวจสุขภาพก่อนเข้าทำงาน ทางคลินิกเรามีโปรแกรมตรวจสุขภาพก่อนเริ่มงาน และโปรแกรมตรวจคัดกรอง 5 โรคก่อนเริ่มงานพร้อมทั้งให้คำแนะนำและตรวจโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ